แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ลงชื่อในใบสั่งซื้อรถยนต์จากจำเลยในนามส่วนตัวโดยมิได้ระบุว่าทำแทนผู้ใด แม้โจทก์จะใช้ข้อความในหนังสือบอกเลิกสัญญาว่าบริษัท ม. จำกัดได้จองรถไว้ก็เป็นเพราะความเข้าใจผิดของโจทก์เอง เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวจึงอาจใช้ตำแหน่งปะปนกับกิจการส่วนตัว ดังนั้นถือว่าโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยในนามส่วนตัว
โจทก์ซื้อรถจากจำเลยโดยนำรถเก่าของโจทก์ให้จำเลยตีราคาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของราคารถใหม่ที่จะซื้อ เมื่อปรากฏว่าจำเลยตีราคารถเก่า 330,000 บาท และรับรถไปแล้ว การที่โจทก์ขอเปลี่ยนรถคันที่ซื้อใหม่และจำเลยยอมคืนเงินให้โจทก์300,000 บาท โดยนำเงินส่วนที่เหลือ 30,000 บาท รวมกับเช็คเงินสดจำนวน 50,000 บาทที่โจทก์มอบแก่จำเลยแล้วเป็นการวางมัดจำรถคันใหม่ที่ขอเปลี่ยน ดังนี้ การตีราคารถเก่าเพื่อขายรถใหม่จึงสิ้นสุดไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ในสิ่งต่าง ๆ ที่จำเลยทำลงในรถเก่าที่โจทก์นำมาตีราคา.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์วอลโว 264 จี แอล อี จำนวน 1คัน พร้อมอุปกรณ์จากจำเลยในราคา 800,000 บาทเศษ โดยโจทก์ชำระราคาบางส่วนเป็นเช็คเงินสดจำนวน 50,000 บาท และชำระอีกส่วนหนึ่งเป็นรถยนต์วอลโวซึ่งจำเลยตีราคาเป็นเงินสด 330,000บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระราคาแล้ว 380,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าระบบบังคับพวงมาลัยไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติและปลอดภัยดีพอ จึงส่งรถคืนแก่จำเลย จำเลยรับว่าจะเปลี่ยนรถคันใหม่ให้โจทก์ภายในเดือนกันยายน 2524 และคืนเงินให้โจทก์ส่วนหนึ่งเป็นเงินจากราคารถวอลโวที่ตีราคาเป็นเงิน 300,000 บาท จำเลยคงค้างชำระอีก 30,000 บาท จึงได้เขียนว่าได้รับมัดจำเพิ่มอีก 30,000 บาท รวมกับเงินตามเช็คแล้วเป็นเงินจำนวน 80,000บาท เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา และเรียกให้จำเลยคืนเงิน 80,000 บาทแก่โจทก์จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิใช่คู่สัญญากับจำเลย (จำเลยส่งมอบรถตามที่โจทก์สั่งซื้อแล้ว ภายหลังโจทก์ไม่พอใจจึงขอเปลี่ยนรถคันใหม่ จำเลยยอมเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ตามความประสงค์ไม่ใช่เพราะเกิดจากความชำรุดบกพร่อง) เมื่อจำเลยนำรถคันใหม่ไปส่งมอบให้โจทก์ภายในกำหนด โจทก์กลับปฏิเสธไม่ยอมรับและไม่ยอมชำระราคาที่ค้าง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำ80,000 บาท ที่จำเลยตีราคารถวอลโวเพื่อการวางมัดจำจำนวน330,000 บาทเป็นการตีราคาตามประเพณีการซื้อขายรถเก่าแลกรถใหม่ซึ่งสูงกว่าราคาปกติ ความจริงรถวอลโวคันดังกล่าวมีราคาเพียง 250,000 บาท ดังนั้น โจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาต่อโจทก์อีกจำนวนทั้งสิ้น100,311 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้เสียหายดังฟ้องแย้งและฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม รถยนต์วอลโวที่โจทก์นำมาวางจำเลยตีราคาให้ 330,000 บาท เป็นการซื้อขายเด็ดขาด ซึ่งจำเลยรับมอบโดยมิได้อิดเอื้อน จำเลยจึงมิได้เสียหายและคำขอเรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 55,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ตามที่จำเลยฎีกามาในประเด็นแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยเห็นว่าบริษัทเมโทรอินเวสต์เมนท์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับจำเลยไม่ใช่โจทก์ปัญหานี้โจทก์เบิกความว่าโจทก์สั่งซื้อรถในนามส่วนตัวเพื่อใช้ส่วนตัวและเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นใบสั่งซื้อรถของจำเลยในช่องผู้ซื้อก็ลงชื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อไม่ได้ระบุว่าทำแทนใคร จึงต้องฟังตามเอกสารว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อและเป็นคู่สัญญากับจำเลย ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.4, จ.5ที่โจทก์มีไปถึงจำเลยซึ่งใช้ข้อความว่า บริษัทเมโทรอินเวสต์เมนท์ จำกัด ได้จองรถวอลโว 264 จี.แอล.อี. นั้นเห็นว่าอาจเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเมโทรอินเวสต์เมนท์ จำกัดด้วย จึงใช้ตำแหน่งปนไปกับกิจการส่วนตัวเมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเมื่อมีการกล่าวอ้างว่าผิดสัญญาได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
สำหรับเรื่องค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้น จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์เอารถเก่ามาให้จำเลยตีราคาเป็นส่วนหนึ่งของราคารถใหม่ที่จะซื้อ ยังไม่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแต่เป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไขว่า จำเลยซื้อรถเก่าของโจทก์เพราะโจทก์ซื้อรถใหม่ของจำเลย ดังนั้น เมื่อสัญญาต้องเลิกกันเพราะโจทก์ผิดสัญญา โจทก์ต้องรับรถคืนไปและชดใช้สิ่งต่าง ๆ ที่จำเลยได้ทำลงในรถนั้น ศาลฎีกาพิจารณาตามพฤติการณ์ของโจทก์จำเลยในคดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยยอมรับเอารถยนต์เก่าของโจทก์ไว้และกำหนดราคา 330,000 บาท รวมกับเช็คจำนวน 50,000 บาท เป็นเงิน 380,000 บาท แล้วส่งรถคันใหม่ให้โจทก์ทดลองขับ โจทก์ไม่พอใจรถคันใหม่ส่งคืนจำเลย จำเลยรับรถไว้แล้วคืนเงินให้โจทก์ 300,000 บาท คงรับไว้เป็นมัดจำรถคันใหม่ 80,000 บาท ต่อมาจึงมีปัญหาว่าจำเลยส่งรถคันใหม่ล่าช้าหรือผิดเวลาที่นัดหมายไว้หรือไม่เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยเรื่องตีราคารถเก่าเพื่อขายรถใหม่ได้สิ้นสุดไปแล้วจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ส่วนค่าเสียหายจำนวน 25,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ใช้แก่จำเลยนั้น โจทก์มิได้ฎีกา ค่าเสียหายดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.