คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12164/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในข้อที่ 1 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,150,000 บาท โดยแบ่งชำระงวดที่ 1 ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เป็นเงิน 600,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ท. สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) ของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 2 กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินว่า จำเลยที่ 2 จะชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เมื่อการชำระหนี้กระทำโดยจำเลยที่ 2 โอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันดังกล่าวก็ต้องปรากฏยอดเงินที่จำเลยที่ 2 โอนไป จึงจะถือว่าจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตรงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
เงื่อนไขการโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตกำหนดว่า หากลูกค้าทำรายการภายในเวลา 22 นาฬิกา ของวันทำการ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีผู้รับโอนภายในวันทำรายการที่ 2 ถัดจากวันที่กำหนดโอนเงิน ลูกค้าที่สมัครวิธีโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจะต้องรับทราบเงื่อนไขและขั้นตอนการโอนเงินของธนาคาร โดยลูกค้าจะต้องลงลายมือชื่อรับทราบไว้ จำเลยที่ 2 รู้เงื่อนไขของธนาคารว่าเงินที่จำเลยที่ 2 โอนจะเข้าบัญชีของผู้รับโอนเมื่อใด แม้จำเลยที่ 2 จะโอนเงินก่อนวันถึงเวลากำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ 1 วัน แต่เงินที่โอนนั้นเข้าบัญชีโจทก์เมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระเงินถึง 4 วัน จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่านายหน้าพร้อมดอกเบี้ย ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 2 ตกลงชำระเงินแก่โจทก์ 1,150,000 บาท แบ่งชำระงวดที่ 1 ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เป็นเงิน 600,000 บาท และงวดที่ 2 ภายในวันที่ 15 มกราคม 2555 เป็นเงิน 550,000 บาท ด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด ถือว่าผิดนัดทั้งหมดให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยกรณีที่จำเลยที่ 2 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ตกลงรับผิดชำระเงินตามที่โจทก์ฟ้อง 3,035,772 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม เมื่อครบกำหนดชำระเงินงวดที่ 1 ไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 โจทก์จึงยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี ครั้นวันที่ 5 มกราคม 2555 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 85230 และ 85252 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง รวม 2 แปลง ของจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดิน 2 แปลง ดังกล่าวโดยประเมินราคาเป็นเงิน 4,700,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี งดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาด และให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการถอนการบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 2 ตกลงชำระเงินแก่โจทก์ 1,150,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดที่ 1 ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เป็นเงิน 600,000 บาท และงวดที่ 2 ภายในวันที่ 15 มกราคม 2555 เป็นเงิน 550,000 บาท โดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) เลขที่บัญชี 762-233680-5 ของโจทก์ หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด ถือว่าผิดนัดทั้งหมดให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2554 เวลา 19.42 นาฬิกา จำเลยที่ 2 โอนเงิน 600,000 บาท จากบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตรัง ของจำเลยที่ 2 เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) ของโจทก์ดังกล่าว ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต วันที่ 13 ธันวาคม 2554 โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดี และวันที่ 5 มกราคม 2555 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 85230 และ 85252 ของจำเลยที่ 2 จากนั้นวันที่ 11 มกราคม 2555 เวลา 16.33 นาฬิกา จำเลยที่ 2 โอนเงิน 550,000 บาท จากบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตรัง ของจำเลยที่ 2 เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) ของโจทก์ดังกล่าวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกับครั้งแรก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในข้อที่ 1 มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,150,000 บาท โดยแบ่งชำระงวดที่ 1 ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เป็นเงิน 600,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 2 กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เมื่อการชำระหนี้กระทำโดยจำเลยที่ 2 โอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันดังกล่าวก็ต้องปรากฏยอดเงินที่จำเลยที่ 2 โอนไป จึงจะถือว่าจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตรงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อเท็จจริงได้ความว่าวันที่ 8 ธันวาคม 2554 เวลา 19.42 นาฬิกา จำเลยที่ 2 โอนเงิน 600,000 บาท จากบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตรัง ของจำเลยที่ 2 แต่เงินที่โอนนั้นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) ของโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 นายต่อพันธ์ ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตรัง เบิกความประกอบสำเนาเงื่อนไขการโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตว่า หากลูกค้าทำรายการภายในเวลา 22 นาฬิกา ของวันทำการ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีผู้รับโอนภายในวันทำรายการที่ 2 ถัดจากวันที่กำหนดโอนเงิน ลูกค้าที่สมัครวิธีโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจะต้องรับทราบเงื่อนไขและขั้นตอนการโอนเงินของธนาคาร โดยลูกค้าจะต้องลงลายมือชื่อรับทราบไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 โอนเงินวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2554 วันถัดมาเป็นวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันทำการ วันเสาร์และอาทิตย์ที่ 10 และ 11 ธันวาคม 2554 เป็นวันปิดทำการ วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2554 เป็นวันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญและปิดทำการ วันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2554 เป็นวันเปิดทำการและเป็นวันทำการที่ 2 ถัดจากวันที่กำหนดโอนเงินตามเงื่อนไขดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เงินที่จำเลยที่ 2 โอนไปจึงเข้าบัญชีโจทก์วันที่ 13 ธันวาคม 2554 ตามเงื่อนไขของธนาคารดังกล่าว จำเลยที่ 2 รู้เงื่อนไขของธนาคารว่าเงินที่จำเลยที่ 2 โอนจะเข้าบัญชีของผู้รับโอนเมื่อใด แม้จำเลยที่ 2 จะโอนเงินก่อนวันถึงเวลากำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ 1 วัน แต่เงินที่โอนนั้นเข้าบัญชีโจทก์เมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระเงินถึง 4 วัน จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share