คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส. ผู้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน3 คน ซึ่งพยานทั้งสามคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของส.ไว้เป็นการทำพินัยกรรมถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ก็มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับประโยชน์อยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมจะมีผลให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ สินสมรสเป็นทรัพย์ที่ ส.มีอยู่ขณะถึงแก่ความตายส.จึงมีอำนาจยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสุธา รังสิกุล กับนางกรองพรรณ รังสิกุล โจทก์ทั้งสองมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คนจำเลยเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายสุธา นายสุธาและจำเลยมีบุตรด้วยกัน 6 คนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 นายสุธาถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด โจทก์ทั้งสองติดต่อจำเลยให้แบ่งสินสมรส ระหว่างนายสุธากับจำเลยเพื่อนำส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่จำเลยมิได้จัดการประการใดทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสระหว่างนายสุธา รังสิกุล กับจำเลยมาเป็นทรัพย์มรดกของนายสุธา รังสิกุล จำนวนครึ่งหนึ่ง แล้วจัดแบ่งมรดกของนายสุธาให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 2 ใน 10 ส่วนของทรัพย์มรดกของนายสุธา หากจำเลยไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันทายาท และขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 13654 และ 87012 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ส่งมอบแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีออกใบแทนโฉนดทั้งสองเพื่อโจทก์ทั้งสองจะได้นำไปดำเนินการต่อไป
จำเลยให้การว่า นายสุธาได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยผู้เดียว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ในการทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดเตรียมทนายความ พยานและเป็นผู้แจ้งข้อความเกี่ยวกับพินัยกรรมแทนนายสุธาจึงมิใช่เป็นเจตนาเผื่อตายของนายสุธา แต่เป็นเจตนาของจำเลย ข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่านายสุธามีเจตนาทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1ไม่มีผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671จึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 นั้นนายสุธาผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน 3 คนซึ่งพยานทั้งสามคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของนายสุธาไว้เป็นการทำพินัยกรรมถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 จึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า พินัยกรรมเอกสารหมายล.1 ไม่มีผลบังคับ เพราะผู้รับประโยชน์ในพินัยกรรมคือจำเลยอยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรม เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับประโยชน์อยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมจะมีผลให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะฉะนั้น พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 จึงมีผลบังคับได้
โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า นายสุธาไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกสินสมรสของตนให้จำเลย เห็นว่า สินสมรสเป็นทรัพย์ที่นายสุธามีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย นายสุธาจึงมีอำนาจยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1481
พิพากษายืน

Share