คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อายุความเช็คต้องนับแต่วันที่ลงในเช็คไม่ใช่นับแต่วันมอบเช็คให้ เมื่อขณะที่โจทก์รับมอบเช็ค เช็คยังไม่ลงวันที่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตชอบที่จะลงวันที่ออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คได้ตาม ป.พ.พ. มารตรา 910 ประกอบมาตรา 989 เมื่อนับจากวันที่ซึ่งปรากฏในเช็คถึงวันฟ้องไม่เกินหนึ่งปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คจำนวน 60,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ไม่ลงวันที่ มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินยืม ภายหลังโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินยืมแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงลงวันที่ในเช็คพิพาทนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารเช็คปฏิเสธการจ่าย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าหนี้ตามเช็คพิพาทระงับเพราะเหตุชำระหนี้แล้วหรือไม่ จำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 มอบเงินให้จำเลยที่ 2 นำไปชำระครั้งหนึ่ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระอีกสิบกว่าครั้ง และชำระด้วยเช็ค 16 ฉบับ จำนวนเงิน 60,000 บาทเศษ รวมเงินที่ชำระกว่า 60,000 บาท เห็นว่า ข้ออ้างว่าชำระด้วยเงินสดสิบกว่าครั้ง แต่ละครั้งเป็นเงินเท่าใด รวมแล้วเป็นเงินเท่าใดก็ว่าจำไม่ได้ ทั้งไม่ได้ทำหลักฐานไว้เลย ส่วนเช็ค 16 ฉบับ แม้จะถูกเรียกเก็บเข้าบัญชีนายพงษ์ชัยก็ไม่มีหลักฐานว่าเป็นเช็คสั่งจ่ายค่าอะไร เช็คพิพาทยังอยู่กับโจทก์ไม่ถูกเวนคืน ทั้งไม่ได้ทำหลักฐานว่าชำระหนี้หมดแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่า มูลหนี้ตามเช็คระงับแล้วด้วยการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกประการว่ากู้เงินและออกเช็คกลางปี 2538 โจทก์เพิ่งลงวันที่ 7 สิงหาคม 2541 แล้วนำไปเรียกเก็บจึงเกินกำหนดหนึ่งปีขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า อายุความต้องนับแต่วันที่ลงในเช็คไม่ได้นับแต่วันมอบเช็คให้ ก่อนหน้านั้นไม่มีวันที่ออกเช็คโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตชอบที่จะลงวันที่ออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงเช็คพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 ดังนั้น นับจากวันที่ซึ่งปรากฏในเช็คถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 ตุลาคม 2541) ไม่เกินหนึ่งปี คดีไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง เมื่อธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900, 967 และมาตรา 989 ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share