แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน แม้การที่โจทก์มีคำสั่งให้ปิดสถานีวิทยุเป็นการชั่วคราวจนกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแล้วเสร็จจะเป็นคำสั่งโดยชอบ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยินยอมให้มีการอกอากาศหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการประพฤติผิดข้อกำหนดในสัญญาก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิอันใดที่จะให้หยุดการส่งกระจายเสียงออกอากาศหรือปิดสถานีวิทยุต่อไปได้อีก เพราะเงื่อนไขอันเป็นข้ออ้างในการใช้สิทธิดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้ว การที่โจทก์ยังคงปิดสถานีวิทยุต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจใช้สถานีวิทยุที่เช่าทำการกระจายเสียงออกอากาศได้อีก ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระค่าเช่าเวลาและค่าเช่าอาคารสถานที่ตั้งสถานีวิทยุจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ดังกล่าวเสียได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,411,300.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 900,000 บาท และ 180,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 13,966 บาท 200,000 บาท 430,000 บาท 100,000 บาท และ 2,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2536 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยและค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 63,966 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนไม่เกิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2537 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2531 จำเลยที่ 1 โดยนางอุบล บุญญชโลธร กรรมการได้ทำสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. จังหวัดยโสธร ระบบเอฟเอ็ม ความถี่ 92.50 เมกะเฮิรตซ์ กับโจทก์ กำหนดเวลา 6 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าตอบแทนเป็นเงิน 3,110,000 บาท และค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท หลังจากเปิดสถานีวิทยุแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการกระจายเสียงออกอากาศตลอดมา จนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติผิดสัญญาโดยให้นางอุบลและนางสาวบุญเกื้อ บุญญชโลธร ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธรกับพวกจัดรายการวิทยุในลักษณะหาเสียงให้แก่ตนเอง โจทก์ได้มีหนังสือเตือนแล้วแต่จำเลยที่ 1 นางอุบลและพวกยังเพิกเฉย วันที่ 12 มีนาคม 2535 โจทก์จึงมีคำสั่งปิดสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. จังหวัดยโสธรเป็นการชั่วคราว โดยให้เจ้าหน้าที่ถอดอุปกรณ์เครื่องส่งที่เรียกว่า เอฟ.เอ็ม.เอกซิเตอร์ ออก ทำให้สถานีวิทยุดังกล่าวไม่อาจทำการกระจายเสียงออกอากาศได้อีกต่อไป หลังจากวันที่ 22 มีนาคม 2535 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์มิได้ทำการเปิดสถานีวิทยุและนำอุปกรณ์เครื่องส่งไปติดตั้งตามเดิม ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจเข้าทำการกระจายเสียงออกอากาศได้ วันที่ 30 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2536 โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 13,966 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันได้แก่ ค่าเช่าเวลา ค่าเช่าอาคารสถานที่ตั้งสถานีวิทยุ ค่าใช้จ่ายในการย้ายสถานีวิทยุ และค่าเสียหายต่อชื่อเสียงแก่โจทก์ ตามสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาหรือไม่เพียงใด สำหรับค่าเช่าเวลาและค่าเช่าอาคารสถานที่ตั้งสถานีวิทยุที่โจทก์เรียกมานับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญานั้น เห็นว่า สัญญาเช่าเวลาจัดรายกายและโฆษณาเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ต่างฝ่ายต่างมีหนี้หรือหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน แม้การที่โจทก์มีคำสั่งให้ปิดสถานีวิทยุเป็นการชั่วคราวจนกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2535 จะเป็นคำสั่งโดยชอบ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยินยอมให้มีการออกอากาศหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธรอันเป็นการประพฤติผิดข้อกำหนดในสัญญาก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิอันใดที่จะให้หยุดการส่งกระจายเสียงออกอากาศหรือปิดสถานีวิทยุต่อไปได้อีก เพราะเงื่อนไขอันเป็นข้ออ้างในการใช้สิทธิดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้ว การที่โจทก์ยังคงปิดสถานีวิทยุต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจใช้สถานีวิทยุที่เช่าทำการกระจายเสียงออกอากาศได้อีก ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระค่าเช่าเวลาและค่าเช่าอาคารสถานที่ตั้งสถานีวิทยุจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ดังกล่าวเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369
สำหรับค่าใช้จ่ายในการย้ายสถานีวิทยุที่จำเลยที่ 1 เช่า ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้จ่ายให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาหมายเลข 5 ข้อ 3 นั้น เห็นว่า นอกจากทางนำสืบของโจทก์จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ย้ายสถานีวิทยุดังกล่าวไปยังสถานีแห่งใหม่เมื่อใดแล้วยังได้ความจากคำเบิกความของนายจตุรภุช หงส์ทองคำ พยานโจทก์ว่า โจทก์ย้ายสถานีวิทยุที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าไปจัดตั้งสถานีวิทยุแห่งใหม่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด มิได้ย้ายไปรวมอยู่กับสถานีโทรทัศน์ของโจทก์ซึ่งจะได้จัดสร้างขึ้นในจังหวัดเดียวกันคือจังหวัดยโสธร ตามที่กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาหมายเลข 5 ข้อ 3 ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 จะต้องออกค่าใช้จ่ายในกรณีที่ผู้ให้เช่าย้ายสถานีวิทยุตามสัญญานี้ไปรวมอยู่กับสถานีโทรทัศน์โจทก์ ซึ่งจะจัดสร้างขึ้นในจังหวัดยโสธร กรณีจึงไม่อาจแปลข้อความในเอกสารท้ายสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาหมายเลข 5 ข้อ 3 ขยายไปว่าให้หมายถึงย้ายไปรวมกับสถานีโทรทัศน์ของโจทก์ที่จังหวัดใกล้เคียงด้วย ดังที่โจทก์ฎีกา จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แก่โจทก์
สำหรับค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์จากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ทำให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์โจมตีและถูกตำหนิจากสำนักงานองค์กรกลางการเลือกตั้งว่าไม่วางตัวเป็นกลาง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์คิดค่าเสียหายส่วนนี้จากความนิยมของผู้ฟังและจำนวนโฆษณาในแต่ละวันที่โจทก์ได้รับซึ่งลดน้อยไปจากเดิมเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าความนิยมของผู้ฟังและจำนวนโฆษณาในแต่ละวันที่โจทก์ได้รับก่อนจำเลยที่ 1 ผิดสัญญามีเพียงใด และหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาแล้วความยินยอมของผู้ฟังและจำนวนโฆษณาลดน้อยไปจากเดิมหรือไม่เพียงใด จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ และเป็นการคาดคะเนตามความรู้สึกของโจทก์เองเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เป็นเงิน 50,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว
สำหรับฎีกาประการสุดท้ายที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ หาใช่รับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยและค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 63,966 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี มิใช่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน