คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12123/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายทั้งสองเป็นญาติกับจำเลย บ้านของผู้เสียหายที่ 1 และบ้านของจำเลยอยู่ติดกัน ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่อาศัยกับผู้เสียหายที่ 1 ได้ไปที่บ้านจำเลยเป็นประจำเพื่อให้บุตรของจำเลยสอนการบ้าน การที่จำเลยฉวยโอกาสที่ผู้เสียหายที่ 2 มาที่บ้านจำเลยเพื่อให้ ธ. สอนการบ้านตามปกติ ในวันเกิดเหตุ เมื่อ ธ. สอนการบ้านเสร็จแล้วจำเลยบอกให้ ธ. ออกจากบ้าน จากนั้นจำเลยได้เรียกให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในห้องแล้วพยามยามกระทำชำเราและกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากบิดามารดา อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 277, 279, 310, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง, 310 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 80, 82 (ที่ถูกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80, 82 กับมาตรา 279 วรรคสอง, 310 วรรคหนึ่ง และ 317 วรรคสาม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารและฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม โดยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้ ส่วนโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่าเด็กหญิง ท. ผู้เสียหายที่ 2 เป็นบุตรของนายสมชาติ ผู้เสียหายที่ 1 และนางทิพยวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2535 ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายสูติบัตร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านของจำเลยซึ่งอยู่ใกล้กันให้นายธีรวิทย์ บุตรชายของจำเลยสอนการบ้าน หลังจากนายธีรวิทย์สอนการบ้านเสร็จแล้ว ขณะที่นายธีรวิทย์ไปกรอกน้ำที่บ้านมารดาจำเลยนั้น จำเลยได้เรียกผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในห้อง แล้วพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 และได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 จริง ความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 และ 82 กับความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคหนึ่ง ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยมีความผิดโดยคู่ความไม่ฎีกาคัดค้าน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายทั้งสองเป็นญาติกับจำเลย บ้านของผู้เสียหายที่ 1 และบ้านจำเลยอยู่ติดกัน ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่อาศัยกับผู้เสียหายที่ 1 ได้ไปที่บ้านจำเลยเป็นประจำเพื่อให้นายธีรวิทย์ บุตรของจำเลยสอนการบ้าน การที่จำเลยฉวยโอกาสที่ผู้เสียหายที่ 2 มาที่บ้านจำเลยเพื่อให้นายธีรวิทย์สอนการบ้านตามปกติในวันเกิดเหตุ เมื่อนายธีรวิทย์สอนการบ้านเสร็จแล้วจำเลยบอกให้นายธีรวิทย์ ออกจากบ้าน จากนั้นจำเลยได้เรียกผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในห้องแล้วพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากบิดามารดา อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share