คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1212/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีของโจทก์เองโดยลงชื่อ “บริษัทสยามกลการ จำกัด โดยนายปรีชา พรประภา และนายประเสริฐ ลีลาศเจริญ กรรมการ โจทก์” ในใบแต่งทนายความของโจทก์มีนายปรีชา พรประภา และนายประเสริฐ ลีลาศเจริญ กรรมการบริษัทโจทก์ลงนามและประทับตราของโจทก์เป็นการถูกต้องตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน หอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ โจทก์ไม่จำต้องนำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความประกอบต่อศาลอีก
สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดใด หรือผิดสัญญาข้อใด ให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันมีผลบังคับทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
การที่จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และไม่ส่งมอบรถคืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถออกให้เช่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
(อ้างฎีกาที่ 601/2513)
โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการผิดสัญญาเช่าซื้อและให้คืนรถที่เช่าซื้อไปไม่ได้มีคำขอว่า ถ้าหากจำเลยไม่ส่งคืนจะต้องใช้ราคาแทนด้วย และเป็นราคาเท่าใด ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และให้จำเลยคืนรถยนต์ 3 คันที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าเสียหายอย่างเดียวว่าศาลกำหนดให้น้อยไป นอกจากนี้ในอุทธรณ์ของโจทก์ยังกล่าวไว้ด้วยว่า โจทก์ไม่ติดใจร้องขอต่อศาลว่า ถ้าจำเลยไม่คืน (รถยนต์) จะให้ใช้ราคาแทน ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยในข้อที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ และประเด็นข้อนี้มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นอีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ถ้าจำเลยไม่คืนรถยนต์ ให้ใช้ราคาแทน จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายสำหรับรถ 3 คันที่ยังไม่ได้คืน เดือนละ 1,000 บาทต่อ 1 คัน ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะส่งมอบรถคืน แต่ค่าเสียหายหลังจากวันฟ้องต้องไม่เกินคันละ 48,000 บาท เพียงเท่าที่รถยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ต่อไปไม่เกิน 4 ปี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีนายปรีชา พรประภา นายประเสริฐ ลีลาศเจริญ และบุคคลอื่นเป็นกรรมการ กรรมการ ๒ นายมีอำนาจลงชื่อร่วมทำการแทนบริษัทได้ จำเลยที่ ๑ ได้เช่าซื้อรถยนต์นิสสันกระบะเทท้ายของโจทก์ไปจากโจทก์รวม ๔ คัน โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกิน ๒ งวด และไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๘ โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน เงินค่าเช่าซื้อที่ส่งชำระแล้วจึงถูกริบเป็นของโจทก์ และจำเลยต้องส่งคืนรถให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย แต่จำเลยไม่ส่งมอบ โจทก์จึงไปยึดรถคืนมาแต่ยึดได้เพียงคันเดียว การที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบรถคืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถออกให้เช่าวันละ ๔๐๐ บาทต่อ ๑ คัน ขอคิดค่าเสียหายสำหรับรถทั้ง ๔ คันนับแต่วันผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันฟ้อง (รถคันที่ถูกยึดมา ขอคิดถึงวันที่ถูกยึด) รวมเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ให้ทนายของโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวก็ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และให้ใช้ค่าเสียหายสำหรับรถอีก ๓ คันที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ วันละ ๑,๒๐๐ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะส่งรถทั้งสามคืนโจทก์ และให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้เช่าซื้อรถยนต์ ๔ คันตามฟ้องจริง แต่จำเลยที่ ๑ มิได้ผิดสัญญา เพราะในการทำสัญญาเช่าซื้อนั้น เจ้าหน้าที่ตัวแทนของโจทก์ให้คำมั่นว่า แม้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ๒ คราวติดกัน ก็ไม่ถือเป็นการผิดสัญญา และโจทก์จะไม่บอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าว เพียงแต่จำเลยที่ ๑ จะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินที่ค้างชำระเท่านั้น จำเลยที่ ๑ สำคัญผิดตามคำมั่น จึงได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับตัวแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อข้อ ๘ ที่ให้สัญญาเลิกกันเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญาโดยมิต้องบอกเลิกนั้น ขัดต่อกฎหมาย เป็นโมฆะ โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลย โจทก์มีสิทธิที่จะรับค่าเช่าซื้อที่จำเลยชำระให้โจทก์ แล้วกลับเข้าครอบครองรถที่ให้จำเลยเช่าซื้อเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย โจทก์ได้ยึดรถทั้ง ๔ คัน ในสภาพเรียบร้อยคืนไปจากจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีก ที่โจทก์อ้างว่าเสียหาย ขาดประโยชน์จากการให้เช่าวันละ ๔๐๐ บาท ไม่เป็นความจริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นฟังว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีสิทธิฟ้องและมีสิทธิเลิกสัญญากับจำเลยโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน สัญญาเช่าซื้อข้อ ๘ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ โจทก์ติดตามยึดรถที่เช่าซื้อมาได้ ๑ คันยังไม่ได้คืนอีก ๓ คัน โจทก์ควรได้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๘๓,๔๐๐ บาท และให้ใช้ค่าเสียหายสำหรับรถอีก ๓ คันที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ รวมเดือนละ ๑,๗๓๗ บาท ๕๐ สตางค์ ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถทั้งสามคันให้โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน ๘๓,๔๐๐ บาท และให้คืนรถยนต์ ๓ คันที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์ได้รับรถคืนมาเพียงคันเดียว คงขาดอยู่ ๓ คัน ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น เห็นว่า โจทก์ขอค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์เป็นค่าเช่า จึงคิดให้ตามขอ แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ประกอบกับสภาพรถแล้ว ควรให้เป็นรายเดือน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาทต่อ ๑ คัน สำหรับค่าเสียหายตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องนั้น เห็นควรคิดให้เป็นเงิน ๑๙๒,๐๐๐ บาท โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งคืนรถ ๓ คันที่ขาดอยู่ แต่จำเลยไม่สามารถส่งคืนรถได้ ควรให้ใช้ราคาแทนโดยคิดเท่ากับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ พิพากษาแก้ เป็นให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๙๒,๐๐๐ บาท และใช้ค่าเสียหายสำหรับรถอีก ๓ คันที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์คันละเดือนละ ๑,๐๐๐ บาทตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน ๑๙๒,๐๐๐ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ ๓ คันที่ยังไม่ได้หรือใช้ราคา ๒๐๑,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องคดีของโจทก์เองโดยลงชื่อ “บริษัทสยามกลการ จำกัด โดยนายปรีชา พรประภา และนายประเสริฐ ลีลาศเจริญ กรรมการ โจทก์” ในใบแต่งทนายความของโจทก์มีนายปรีชา พรประภา และนายประเสริฐ ลีลาศเจริญ กรรมการบริษัทโจทก์ลงนามและประทับตราของโจทก์เป็นการถูกต้องตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน หอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ โจทก์ไม่จำต้องนำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความต่อศาลอีก ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๘ ได้ระบุไว้ว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดใด หรือผิดสัญญาข้อใด ให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันมีผลบังคับทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า การที่จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ส่งมอบรถคืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถออกให้เช่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ ๑๐ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เกี่ยวกับปัญหาที่ว่า โจทก์ได้รับรถคืนไปหมดแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับรถคืนเพียง ๑ คัน ยังไม่ได้รับคืนอีก ๓ คัน ปัญหาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยไม่คืนรถให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายจริง และศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายตั้งแต่วันจำเลยผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๙๒,๐๐๐ บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินดังกล่าวนี้ ชอบแล้ว ส่วนค่าเสียหายต่อไปถัดจากวันฟ้องสำหรับรถ ๓ คัน เห็นควรกำหนดค่าเสียหายโดยเฉลี่ยให้อัตราเดือนละ ๑,๐๐๐ บาทต่อ ๑ คัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืน ปัญหาที่ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ ๓ คันที่ยังไม่ได้คืน และกล่าวด้วยว่า ถ้าไม่คืนให้ใช้ราคา ๒๐๑,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ด้วยนั้น เป็นการชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการผิดสัญญาเช่าซื้อและให้คืนรถที่เช่าซื้อไป ไม่ได้มีคำขอว่าถ้าหากจำเลยไม่ส่งคืนจะต้องใช้ราคาแทนด้วย และเป็นราคาเท่าใด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และให้จำเลยคืนรถยนต์ ๓ คันที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าเสียหายอย่างเดียวว่า ศาลกำหนดค่าเสียหายให้น้อยไป นอกจากนี้ในอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไว้ด้วยว่า โจทก์ไม่ติดใจร้องขอต่อศาลว่า ถ้าจำเลยไม่คืน (รถยนต์) จะให้ใช้ราคาแทน ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยในข้อที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ และประเด็นข้อนี้มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นอีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ถ้าจำเลยไม่คืนรถยนต์ให้ใช้ราคา ๒๐๑,๐๐๐ บาทนั้น จึงเป็นการมิชอบ
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง เป็นเงิน ๑๙๒,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าว ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าเสียหายสำหรับรถอีก ๓ คันที่ยังไม่ได้คืน เดือนละ ๑,๐๐๐ บาทต่อ ๑ คันนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืน แต่ค่าเสียหายหลังจากวันฟ้องนี้ไม่เกินคันละ ๔๘,๐๐๐ บาทเพียงเท่าที่รถยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ต่อไปไม่เกิน ๔ ปี

Share