คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 640 และมาตรา 650 ลักษณะ 9 เรื่องยืม เป็นกรณีที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเพื่อประโยชน์ของผู้ยืมหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้ยืมไม่ การที่โจทก์ผู้ให้ยืมให้จำเลยยืมเงินไปเป็นการทดรองเพื่อให้จำเลยนำไปใช้สอยในกิจการของโจทก์เป็นประโยชน์ของโจทก์ผู้ให้ยืมเอง รูปเรื่องจึงปรับเข้าด้วยลักษณะ 9 เรื่องยืมแห่งบทบัญญัติกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงผูกพันกันในลักษณะอื่นโดยเฉพาะ ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ระหว่างคู่กรณีมุ่งผูกพันกันแค่ไหนอย่างไร การที่จำเลยลงชื่อในใบยืมเงินทดรองของโจทก์นั้นได้กระทำไปโดยตำแน่งหน้าที่ของจำเลยในฐานะพนักงานของโจทก์ในขอบเขตแห่งหน้าที่ของตนตามระเบียบแบบแผนของโจทก์ที่วางไว้เพื่อใช้ดำเนินงานของโจทก์โดยมอบให้ จ.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปดำเนินการต่อไปเพื่อให้งานของโจทก์ดำเนินไปโดยเรียบร้อย แม้จะมีข้อบังคับให้ผู้ยืมต้องนำใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องพร้อมทั้งเงินที่เหลือจ่ายส่งใช้แก่โจทก์ตามกำหนด ก็เป็นเรื่องกำหนดความรับผิดชอบของผู้ยืมไว้เป็นการเฉพาะเป็นหลักปฏิบัติงานในหน่วยงานของโจทก์เมื่อจำเลยมิได้อยู่ในฐานะของผู้ยืมตามกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินรายพิพาทแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ได้ยืมเงินทดรองซึ่งเป็นเงินยืมประจำเจ้าหน้าที่สำหรับหมุนเวียนทดรองจ่ายในงานประจำของจำเลยไปจากโจทก์ ๕ คราว รวมเป็นเงิน ๓๔,๕๐๐ บาท โดยจำเลยได้ทำสัญญายืมและจะนำใบสำคัญคู่จ่ายทั้งเงินที่เหลือจ่ายส่งใช้และคืนภายในกำหนด ต่อมาจำเลยได้นำใบสัญญาคู่จ่ายมาชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์แล้วเป็นเงิน ๙,๖๓๕.๙๕ บาท คงค้างชำระเป็นเงิน ๒๔,๘๖๔.๐๕ บาท ซึ่งจำเลยมิได้นำใบสัญญาคู่จ่ายมาชำระหนี้แก่โจทก์ และมิได้ชำระเงินที่เหลือจ่ายแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยมีเงินประกันตัวของจำเลยอยู่กับโจทก์จำนวน ๕,๒๓๐ บาท โจทก์นำเงินประกันนั้นหักชำระหนี้โจทก์แล้วคงเหลือเงินจะต้องชดใช้แก่โจทก์อีก ๑๙,๖๓๔.๐๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยยืมเงินทดรองจ่ายเพื่อใช้ในกิจการและเพื่อประโยชน์ของโจทก์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเลยได้รับมอบหมาย เมื่อจำเลยรับเงินทดรองจ่ายมาแล้วได้มอบหมายเงินนั้นแก่นางสาวจินตนาพนักงานออกของของโจทก์ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกของของโจทก์ จำเลยปฏิบัติตามควรแก่หน้าที่แล้วความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์เกิดจากความจงใจและประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์ไม่มีสิทธิหักเงินประกันตัวจำเลยจำนวน ๕,๒๓๐ บาท และตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์คืนเงินจำนวน ๕,๒๓๐ บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นคนยืมเงินโจทก์ไปทำหลักฐานการยืมว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้คืนภายใน ๑๕ วัน ความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ต้องเป็นไปตามใบยืม โจทก์มีสิทธินำเงินประกันของจำเลยจำนวน ๕,๒๓๐ บาท มาหักชำระหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน ๑๙,๖๓๔.๐๕ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและให้บังคับตามฟ้องแย้ง
โจทก์ฎีกา
คดีนี้ โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ขณะจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายจัดหา รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดหา ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยยืมเงินทดรองจ่ายไปจากโจทก์เพื่อใช้จ่ายในกิจการของโจทก์ ๕ ครั้ง รวมเป็นเงิน๓๔,๕๐๐ บาทจำเลยมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้นางสาวจินตนาพนักงานลูกจ้างของโจทก์ในฝ่ายจัดหาซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยและทำหน้าที่พนักงานออกของ (ชิปปิ้ง) รับไปใช้จ่ายในการออกสินค้าของโจทก์ที่ส่งมาจากต่างประเทศจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยนางสาวจินตนาใช้จ่ายเงินไปโดยมีหลักฐานเพียง ๙,๖๓๕.๙๕ บาท ส่วนจำนวนเงินนอกนั้นนางสาวจินตนาอ้างว่าใช้จ่ายในการออกสินค้าของโจทก์เช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินมาแสดง และไม่ได้คืนเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายจำนวน ๒๔,๘๖๔.๐๕ บาท นางสาวจินตนาทำบันทึกยอมรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยออกจากงานขององค์การโจทก์ โจทก์หักเงินประกันตัวของจำเลยไว้ ๕,๒๓๐ บาท เพื่อชำระหนี้รายนี้บางส่วน แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๔๐ บัญญัติว่า ‘อันว่ายืมใช้คงรูปนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืมให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว และมาตรา ๖๕๐ บัญญัติว่า ‘อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นคือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืม’ ดังนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ ๙ เรื่องยืมจึงเป็นกรณีที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเพื่อประโยชน์ของผู้ยืมหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้ยืมไม่ คดีนี้โจทก์ผู้ให้ยืมให้จำเลยยืมเงินไปเป็นการทดรองเพื่อให้จำเลยนำไปใช้สอยในกิจการของโจทก์เป็นประโยชน์ของโจทก์ผู้ให้ยืมเอง รูปเรื่องจึงปรับเข้าด้วยลักษณะ ๙ เรื่องยืมแห่งบทบัญญัติกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงผูกพันกันในลักษณะอื่นโดยเฉพาะ ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ระหว่างคู่กรณีมุ่งผูกพันกันแค่ไหนอย่างไร เห็นว่าการที่จำเลยลงชื่อในใบยืมเงินทดรองของโจทก์นั้นได้กระทำไปโดยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยในฐานะพนักงานของโจทก์ในขอบเขตแห่งหน้าที่ของตนตามระเบียบแบบแผนของโจทก์ที่วางไว้เพื่อใช้ดำเนินงานของโจทก์โดยมอบให้นางสาวจินตนาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปดำเนินการต่อไปเพื่อให้งานของโจทก์ดำเนินไปโดยเรียบร้อย แม้จะมีข้อบังคับองค์การแก้วว่าด้วย เงินยืมทดรอง พ.ศ. ๒๕๒๐ ให้ผู้ยืมต้องนำใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องพร้อมทั้งเงินที่เหลือจ่ายส่งใช้แก่โจทก์ภายใน๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับเงินยืม ก็เป็นเรื่องกำหนดความรับผิดชอบของผู้ยืมไว้เป็นการเฉพาะเป็นหลักปฏิบัติงานในหน่วยงานของโจทก์ เมื่อจำเลยมิได้อยู่ในฐานะของผู้ยืมตามกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินรายพิพาทแก่โจทก์
พิพากษายืน.

Share