แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ส่งตั๋วแลกเงินจำนวน 40,000 บาทของธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาเบตงให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยบรรจุตั๋วแลกเงินในซองจดหมายลงทะเบียนจ่าหน้าซองถึงโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานบุรุษไปรษณีย์ ได้รับมอบหมายให้นำไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวไปส่งให้แก่ผู้รับ แต่ในการส่งนั้นจำเลยที่ 2 ได้ทำหลักฐานใบรับปลอมขึ้นว่ามีบุคคลในบ้านเดียวกันกับโจทก์ที่ 2 รับแทน แล้วแอบอ้างตัวเองเป็นโจทก์ที่ 2 นำตั๋วแลกเงินไปรับเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาราชปรารภ อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ แม้ พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 จะบัญญัติถึงความรับผิดของกรมไปรษณีย์ไว้เป็นพิเศษก็ตาม แต่เมื่อกรณีนี้เป็นเรื่องละเมิด มิใช่เป็นการทำผิดสัญญารับขน พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 จึงไม่เป็นประโยชน์แก่กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 3 กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อทรัพย์สินที่โจทก์ต้องเสียไปเพราะการละเมิดนั้นคือเงินจำนวน 40,000 บาทตามตั๋วแลกเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 เอาไป ซึ่งเป็นความเสียหายโดยตรงจากการละเมิดของจำเลยที่ 2 กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ราคาทรัพย์จำนวนดังกล่าวให้โจทก์
( ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2518 )
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ได้ส่งตั๋วแลกเงินจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาทของธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาเบตง สั่งจ่ายเงินเมื่อเห็นให้แก่โจทก์ที่ ๒ ที่กรุงเทพฯ โดยฝากไปรษณีย์ภัณฑ์ลงทะเบียนที่ไปรษณีย์โทรเลขเบตง จังหวัดสงขลา แต่โจทก์ที่ ๒ ไม่ได้รับ เพราะจำเลยที่ ๒ ขณะกระทำการตามหน้าที่กิจการงานของจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับบุคคลอื่นเซ็นรับเอาซองไปรษณีย์ไป แล้วนำตั๋วแลกเงินนั้นเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาราชปรารภ ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ ๑ เอง และโดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังตามหน้าที่ ธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาราชปรารภได้จ่ายเงินจำนวนตามตั๋วแลกเงินนั้นให้ไป ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินนั้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องและต่อไปจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า การที่โจทก์ที่ ๑ ส่งตั๋วแลกเงินโดยฝากเป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ทางไปรษณีย์โทรเลขลงทะเบียนถึงโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้รับ แต่โจทก์ที่ ๒ มิได้รับ แล้วมีคนนำตั๋วแลกเงินไปขึ้นเงินจากธนาคารจำเลยสาขาราชปรารภนั้น เป็นการกระทำของโจทก์เอง หากเกิดความเสียหายขึ้นก็อยู่ไปความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องว่ากล่าวเอาจากจำเลยที่ ๒ หรือจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนของโจทก์ที่ ๑ ได้ถูกนำจ่ายให้โจทก์ที่ ๒ มีบุคคลในบ้านเดียวกับโจทก์ที่ ๒ ลงนามรับไว้แทนแล้ว จึงมิใช่เรื่องไปรษณียภัณฑ์สูญหายอันจะต้องชดใช้ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙ ใครจะนำตั๋วเงินดังกล่าวไปรับเงินจากจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิด ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ สาขาราชปรารภ จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่ผู้ถือบัตรประชาชนซึ่งมิใช่ตัวนายอากาว แซ่ตั้ง ผู้ถือตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นความประมาทของจำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ส่งจดหมายทางไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนบรรจุตั๋วแลกเงินลงไปในซองจดหมายของเดียวกันกับซองจดหมายถึงโจทก์ที่ ๒ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของกรมไปรษณีย์โทรเลข ออกตามความในพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๒ เรียกว่าไปรษณีย์นิทเทส ข้อที่ ๒๐๙ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์และหากมีการสูญหายไปจริงจำเลยที่ ๓ ก็มีความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียง ๔๐ บาท ตามข้อบังคับในไปรษณีย์นิทเทส ข้อ ๑๕๐ และพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. ๒๙,๓๐
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานบุรุษไปรษณีย์ไม่ได้นำไปรษณีย์ภัณฑ์ลงทะเบียนของโจทก์ที่ ๑ นำส่งตรงต่อโจทก์ที่ ๒ ผู้รับ หากแต่ได้กระทำโดยทุจริตแอบอ้างตนเองเป็นโจทก์ที่ ๒ นำตั๋วแลกเงินนั้นไปรับเงินจากธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาราชปรารภแล้วหลบหนีไป การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และเป็นการกระทำในทางที่จ้างของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ กรณีไม่เข้าข้อห้ามในไปรษณีย์นิทเทส ข้อ ๒๐๙ และไม่ใช่เรื่องจดหมายหรือไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนหายตามข้อ ๑๕๐ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำโดยประมาท หรือเลินเล่อ จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ร่วมกันใช้เงินและดอกเบี้ยตามฟ้อง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ปัญหาว่า จำเลยที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์ที่ ๑ ได้ส่งเงินจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาทมาให้โจทก์ที่ ๒ ผู้เป็นบุตรโดยการซื้อตั๋วแลกเงินจากธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาเบตง บรรจุในซองจดหมายลงทะเบียนจ่าหน้าซองถึงโจทก์ที่ ๒ ณ โรงเรียนพาณิชยการและการบัญชีพระนคร จังหวัดพระนคร จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุรุษไปรษณีย์ประจำอยู่ไปรษณีย์สามเสนใน ได้รับมอบหมายให้นำไปรษณียภัณฑ์บรรจุตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปส่งให้แก่ผู้รับ ในการส่งนั้นปรากฏตามหลักฐานใบรับมีชื่อนายสุวิทย์ จิตเจริญ เป็นผู้รับแทนเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๓ ต่อมาปรากฏว่าโจทก์ที่ ๒ ไม่ได้รับเงินจำนวนนี้ โดยมีผู้นำเอาชื่อโจทก์ที่ ๒ ไปแอบอ้างขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวจากธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาราชปรารภ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกันแล้วเชื่อได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทำปลอมหลักฐานใบรับขึ้น แล้วต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้กระทำหรือร่วมกับบุคคลอื่นแอบอ้างเป็นตัวโจทก์ที่ ๒ โดยทุจริตนำตั๋วแลกเงินของโจทก์ไปรับเงินจากธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาราชปรารภ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ ๒ ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว แม้พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ จะบัญญัติถึงความรับผิดของกรมไปรษณีย์ไว้เป็นพิเศษก็ตาม ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องละเมิด มิใช่เป็นการทำผิดสัญญารับขน พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ต้องเสียไปเพราะละเมิดนี้คือเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ตามตั๋วแลกเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ ๒ เอาไป ซึ่งเป็นความเสียหายโดยตรงจากการละเมิดของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ชดใช้ราคาทรัพย์จำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
พิพากษายืน.