คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1210/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยอายุ 15 ปีเศษ ในขณะกระทำความผิด อันอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องอายุของจำเลยมิได้ปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา แต่ปรากฏในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและได้ทำการพิจารณาโดยศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อันถือได้ว่าเป็นการโอนคดีไปยังศาล ที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 15 แล้ว จึงไม่ต้องโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้ลักเอาเงินสดจำนวน 500 บาท ของนายไพฑูรย์ นาคคำ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 335(1) วรรคแรก)จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามข้อฎีกาของจำเลยประการแรกว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ ซึ่งศาลฎีกาต้องมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะระบุว่า จำเลยมีอายุ 19 ปีและจำเลยได้ให้การรับสารภาพตามคำฟ้องนั้นก็ตาม แต่ก็ปรากฏจากภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านและภาพถ่ายสูติบัตรซึ่งมีนางสุภาวดี กาญจนรังสิชัย ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอเมืองขอนแก่นลงลายมือชื่อรับรองถูกต้องกับหนังสือรับรองของโรงเรียนเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจำเลยแนบมาท้ายฎีกา มีข้อความเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดของจำเลยตรงกันทั้งสามฉบับคือ จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2520 และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ดังนั้น จำเลยจึงมีอายุเพียง 15 ปีเศษ ในขณะกระทำความผิดอันอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่า จะต้องโอนคดีนี้ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 วรรคแรก บัญญัติว่า”ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าข้อเท็จจริงในเรื่องอายุหรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้องจะผิดไปหรือศาลอื่นใดได้รับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ต้องด้วยมาตรา 13ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุในศาลนั้น ๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตาม ข้อบกพร่องดังกล่าวไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาและศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเสียไป” และมาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติว่า”ถ้าข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาไม่ว่าในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาให้ศาลนั้น ๆ โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป” เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องอายุของจำเลยมิได้ปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่ปรากฏในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และคดีนี้ได้ทำการพิจารณาโดยศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอันถือได้ว่าเป็นการโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปตามบทมาตราของพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงไม่ต้องโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามข้อฎีกาของจำเลย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงจำคุกจำเลย 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share