แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และฐานทำไม้หวงห้ามภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 457,236.27 บาท แก่รัฐ ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 457,236.27 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เฉพาะคดีส่วนแพ่งเท่านั้น คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน เท่ากับลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วจะจำคุกรวม 5 ปี 3 เดือน ซึ่งเกินกว่าห้าปีก็ตาม ก็ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพราะการพิจารณาว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวพิจารณาตามโทษที่เป็นรายกระทงมิใช่พิจารณาโทษที่รวมทั้งคดี เมื่อโทษที่ลงแก่จำเลยในคดีนี้แต่ละกระทงจำคุกไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทุกกระทง จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยที่ขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าเป็นกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี ไม่ต้องห้ามจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงไม่จำต้องมีการรับรองในฎีกา ยกคำร้อง และมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยนั้น จึงเป็นกรณีสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัย โดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 14, 26/4, 26/5, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 54, 69, 72 ตรี, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางทั้งหมด และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว และให้ชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายเป็นเงิน 457,236.27 บาท ให้แก่รัฐ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (2) (ที่ถูก (เดิม)) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (ที่ถูก (เดิม)), 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2) (ที่ถูก (เดิม)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และฐานทำไม้หวงห้ามภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ที่ถูก พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 457,236.27 บาท แก่รัฐ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 457,236.27 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และฐานทำไม้หวงห้ามภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ที่ถูกให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 457,236.27 บาท แก่รัฐ ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 457,236.27 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เฉพาะคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น คดีในส่วนอาญาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน เท่ากับยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วจะจำคุกรวม 5 ปี 3 เดือน ซึ่งเกินกว่าห้าปีก็ตาม ก็ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพราะการพิจารณาว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวพิจารณาตามโทษเป็นรายกระทงมิใช่พิจารณาโทษที่รวมกันทั้งคดี เมื่อโทษที่ลงแก่จำเลยในคดีนี้แต่ละกระทงจำคุกไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทุกกระทง จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยที่ขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าเป็นกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ไม่ต้องห้ามจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) จึงไม่จำต้องมีการรับรองในฎีกา ยกคำร้อง และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยนั้น จึงเป็นกรณีสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยและที่ให้รับฎีกาของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2562 พิจารณาว่าจะอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนแล้วดำเนินการต่อไป