แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวที่เช่าอยู่ติดกับตลาดสดเทศบาลที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นบนที่ดินราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 จนให้ที่ดินราชพัสดุกลายเป็นย่านชุมชนและย่านการค้า การที่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 สร้างกำแพงพิพาทสูงถึง 3 เมตรกั้นระหว่างที่ดินราชพัสดุกับที่ดินของโจทก์ เป็นการปิดกั้นหน้าที่ดินและตึกแถวของโจทก์ ทำให้ไม่สะดวกในการไปมาติดต่อระหว่างตึกแถวของโจทก์กับตลาดสดเทศบาล และเป็นเหตุขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นซื้อหรือเช่าตึกแถวของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรหรือคาดหมายได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๓๙๐ อำเภอเมืองขอนแก่นทิศตะวันออกจดถนนตลาดสดเทศบาล ๒ ยาว ๖๑ เมตรเศษ โจทก์ได้เริ่มก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินดังกล่าวเพื่อขายหรือให้เช่าจำนวน ๑๕ ห้อง และหันหน้าเข้าสู่ตลาดสดเทศบาล ๒ โดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากจำเลยที่ ๒ (เทศบาลเมืองขอนแก่น) แล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ ซึ่งรับเหมาก่อสร้างตลาดสดและอาคารรอบตลาดสดจากจำเลยที่ ๒ ได้ก่อกำแพงสูงประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๖๑ เมตร ปิดกั้นระหว่างที่ดินโจทก์ดังกล่าวกับถนนและบริเวณตลาดสดเทศบาล ๒ โดยความควบคุมดูแลและอนุญาตจากจำเลยที่ ๒ ยังผลให้ไม่สามารถออกจากที่ดินโจทก์สู่ถนนสาธารณะทางด้านตลาดสดเทศบาล ๒ ได้ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์เสียหาย เพื่อไม่ให้มีคนมาซื้อ หรือเช่าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ และจะมีคนไปเช่าอาคารพาณิชย์รอบตลาดสดและในบริเวณสถานีขนส่งจังหวัดซึ่งจำเลยทั้งสองจะได้รับผลประโยชน์ โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียดอกเบี้ยเงินกู้ที่ใช้ลงทุนก่อสร้าง ขอให้จำเลยรื้อถอนกำแพงตามฟ้องออกไปและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของกระทรวงการคลังและจำเลยที่ ๒ และได้ก่อสร้างรั้วกำแพงเพื่อแสดงแนวเขตไม่เป็นละเมิดโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ทำรั้วกำแพงโดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ควบคุม จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลได้มีคำสั่งให้เรียกกรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของโจทก์ และให้เรียกว่าเป็นจำเลยที่ ๓ และที่ ๔
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า กำแพงพิพาทสร้างขึ้นเพื่อกั้นที่ราชพัสดุในความดูแลของจำเลยที่ ๓ มิให้ผู้ใดบุกรุก เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้รบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์เสี่ยงภัยสร้างอาคารภายหลังการก่อสร้างกำแพงพิพาท โจทก์มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที ๑ สร้างกำแพงพิพาทขึ้นเป็นการปิดกั้นหน้าตึกแถวโจทก์กับตลาดสดเทศบาล ผู้จะเข้าอยู่ในตึกแถวของโจทก์ไม่ได้รับความสะดวก เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้สนับสนุนเห็นชอบในการสร้างกำแพงพิพาท ต้องร่วมผิด จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ รื้อถอนกำแพงพิพาทและร่วมกันเสียค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้ง ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ แล้วพิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๓๙๐ ด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินราชพัสดุของจำเลยที่ ๔ ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ เช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวจากจำเลยที่ ๓ แล้วให้จำเลยที่ ๑ เช่าช่วงปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และตลาดสดเทศบาล จำเลยที่ ๑ ทำถนนคอนกรีตของตลาดสดเทศบาลติดกับที่ดินโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ สร้างกำแพงอิฐสูงประมาณ ๓ เมตรกั้นถนนตลาดสดเทศบาลกับที่ดินโจทก์ โจทก์ร้องเรียน จำเลยที่ ๒ สั่งจำเลยที่ ๑ รื้อถอนกำแพงออกไป ต่อมาโจทก์ก่อสร้างตึกแถวในที่ดินของโจทก์เพื่อแบ่งขาย เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ สร้างกำแพงพิพาทขึ้นมาอีก จำเลยที่ ๓ ให้โจทก์ยกตึกแถว ๘ คูหาพร้อมที่ดินหรือใช้เงินหนึ่งล้านบาทแก่จำเลยที่ ๒ จึงจะรื้อถอนกำแพงพิพาท แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวซึ่งอยู่ติดกับตลาดสดเทศบาลที่ จำเลยที่ ๑ สร้างขึ้นบนที่ดินราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๓ จนทำให้ที่ดินราชพัสดุกลายเป็นย่านชุมชนและย่านการค้า การที่จำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ สร้างกำแพงพิพาทสูงถึง ๓ เมตร กั้นระหว่างที่ดินราชพัสดุกับที่ดินของโจทก์ แม้กำแพงพิพาทอยู่ในที่ดินราชพัสดุ แต่ปิดกั้นหน้าที่ดินและตึกแถวของโจทก์ เห็นได้แจ้งชัดว่าไม่สะดวกในการไปมาติดต่อระหว่างตึกแถวของโจทก์กับตลาดสดเทศบาล จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินราชพัสดุไม่เห็นชอบด้วยในการสร้างกำแพงพิพาท จำเลยที่ ๑ สร้างกำแพงพิพาทขึ้นจนจำเลยที่ ๒ สั่งให้รื้อมาครั้งหนึ่งแล้ว จำเลยที่ ๓ กลับสั่งให้จำเลยที่ ๑ สร้างกำแพงพิพาทขึ้นอีกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๒ กำแพงพิพาทเป็นเหตุขัดขวางไม่ให้มีผูใดซื้อหรือเช่าตึกแถวในที่ดินของโจทก์ทั้งจำเลยที่ ๓ ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากโจทก์ก่อนจึงจะรื้อกำแพงพิพาท การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของตนให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรหรือคาดหมายได้ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๑ และมาตรา ๑๓๓๗
พิพากษายืน.