คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 286 จะต้องฟังได้ว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี หมายความว่าหากขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี จำเลยจะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ เมื่อกรณีได้ความแต่เพียงว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปีเป็นผู้จัดหาหญิงผู้ทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระและได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ดังนี้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 286พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 และขอให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 286 และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 10 ปี ของกลางริบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 จำคุก 2 เดือนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นกักขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 23 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 บัญญัติว่า “ผู้ใดอายุกว่าสิบหกปีดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ต้องระวางโทษ…” ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะมีความผิดตามที่โจทก์ฎีกา โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า จำเลยที่ 2อายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วน จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีซึ่งหมายถึงว่า จำเลยที่ 2 ดำรงชีวิตของตนอยู่ได้ด้วยการอาศัยปัจจัยทั้งหมดหรือแม้เพียงบางส่วน จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี หากจำเลยที่ 2 ขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี จำเลยที่ 2 จะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ หรือจำเลยที่ 2 ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และปรากฏว่าจำเลยที่ 2 อยู่ร่วมกับหญิงซึ่งค้าประเวณี หรือสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณตามคำฟ้องโจทก์ ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายสันนิษฐานหรือให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณีแต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียงว่าจำเลยที่ 2 อายุกว่าสิบหกปีกับพวก เป็นผู้จัดหาหญิงผู้ทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระและจำเลยที่ 2 ได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงชีวิตของตนอยู่ได้ด้วยอาศัยปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีแล้วจำเลยที่ 2 จะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานนำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันเพียงพอสำหรับดำรงชีพโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้ง จึงจะให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณีไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2ไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฎีกา คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ทำงานเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุสสะอินเตอร์เนชั่นแนลเทรดดิ้ง ได้รับเงินเดือนเดือนละ 3,200 บาท นั้นเป็นความจริงหรือไม่
พิพากษายืน.

Share