แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง ระเบียบการงด หรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.45/2536 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2536 ข้อ 2 ที่ให้เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจพิจารณาลดเบี้ยปรับลงได้ โดยให้ลดลงคงเสียตาม อัตราและเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้ชำระภาษีตามที่กำหนดในข้อ 2(ก)(ข)และ(ค) นั้น ระยะเวลาดังกล่าวตามระเบียบนั้นมิได้มีบทบัญญัติ ว่าด้วยการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ จึงต้องนับระยะเวลา ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 เมื่อวันสุดท้ายของระยะเวลาที่กำหนดเป็นวันหยุดราชการ จึงต้องนับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาตามมาตรา 193/8 ดังนั้นเมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนกรกฎาคม 2539 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2539 ตามมาตรา 83 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร ในวันที่ 16 กันยายน 2539 เพราะวันที่ 14 และ 15 กันยายน 2539 เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ จึงถือว่าโจทก์ยื่นแบบ แสดงรายการภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวให้ลดเบี้ยปรับลง คงเสียร้อยละ 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ 179/สภ.1 (กม.1)/24/40/15
จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์มีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 495,291 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 0241020/05/102248 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2539 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 179/สภ.1 (กม.1)/24/40/15ลงวันที่ 9 กันยายน 2540 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติให้การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับเดือนภาษีใดให้ยื่นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป และมาตรา 89 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเสียเบี้ยปรับในกรณีและมาตราดังต่อไปนี้ (2) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษี และวรรคท้ายบัญญัติว่า”เบี้ยปรับตามมาตรานี้อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี” ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง ระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.45/2536 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2536 ข้อ 2 ความว่า “การลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีตามมาตรา 89(1) มาตรา 89(2) มาตรา 89(3) และมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากรเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาลดเบี้ยปรับลงได้ โดยให้ลดลงคงเสียตามอัตราและเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการเองและขอชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการนั้นโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้
(ก) ถ้าชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 2 ของเบี้ยปรับ
(ข) ถ้าชำระภายหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ
(ค) ถ้าชำระภายหลัง 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ”
ซึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายและคำสั่งดังกล่าวจะเห็นได้ว่าระยะเวลาดังกล่าวตามคำสั่งกรมสรรพากรเป็นระยะเวลาที่กำหนดว่าถ้ามีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามกำหนดเวลาดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ลดเบี้ยปรับลงได้ แต่ระยะเวลาดังกล่าวตามระเบียบนั้นมิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษจึงต้องนับระยะเวลาไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 เมื่อวันสุดท้ายของระยะเวลาที่กำหนดเป็นวันหยุดราชการ จึงต้องนับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาตามมาตรา 193/8 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนกรกฎาคม 2539 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2539 ตามมาตรา 83 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร ในวันที่ 16 กันยายน 2539 เพราะวันที่ 14 และ 15 กันยายน 2539 เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ จึงถือว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ยื่นชำระไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวให้ลดเบี้ยปรับลง คงเสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินภาษีของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ 179/สภ.1 (ตม.1/24/40/15) เฉพาะในส่วนการเสียเบี้ยปรับ โดยให้คำนวณในอัตราร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง