คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะให้แก้ไขเสียแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษา ยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษตามบทหนักที่สุดฐานประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตาม มาตรา 78 ลงกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะฎีกาข้อ ข. ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อ ข.ว่า โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อโจทก์ท้ายฟ้อง คำฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) พิเคราะห์แล้วคดีอาญานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียงผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” ปรากฏว่าตามคำฟ้องของโจทก์คงมีแต่ลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์ฟ้องเท่านั้น โจทก์หาได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำฟ้องไม่ เห็นว่า ฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) และในชั้นนี้ล่วงเลยเวลาที่จะให้แก้ไขมาแล้ว ศาลไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษายกฟ้อง

Share