แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มอบอำนาจให้จ. เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อต่างๆแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจได้เมื่อวันที่31ธันวาคม2531จำเลยที่1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะจากโจทก์สาขาชัยนาทโดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวันดังกล่าวจำเลยที่1ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียวต่อมาวันที่2มกราคม2532ป. ผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์สาขาชัยนาทได้จัดส่งสัญญาดังกล่าวไปให้จ. ซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่กรุงเทพมหานครลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์เรียบร้อยแล้วแม้จ. เพิ่งลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อหลังจากวันที่31ธันวาคม2531ก็ตามแต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่1ซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้ทักท้วงและในการลงชื่อของจ. ก็มีตราบริษัทโจทก์ประทับทั้งยังมีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์หลายงวดและโจทก์รับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การลงชื่อของจ. ในสัญญาเช่าซื้อโดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา823วรรคหนึ่งจึงมีผลเสมือนว่าจ. ได้รับมอบหมายให้ลงชื่อแทนโจทก์มาตั้งแต่ต้นดังนี้สัญญาเช่าซื้อจึงมีคู่สัญญาลงชื่อครบถ้วนไม่เป็นโมฆะโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อนั้นได้รวมค่าเช่ากับราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเข้าไว้ด้วยกันการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อดังกล่าวไม่มีกฎหมายห้ามไว้และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแม้ราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวโจทก์จะกำหนดโดยวิธีหักเงินชำระล่วงหน้าออกไปก่อนแล้วนำส่วนที่เหลือไปคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15ต่อปีในจำนวน48คือ4ปีคำนวณเป็นดอกเบี้ยเท่าใดบวกเข้ากับเงินที่ค้างชำระจากนั้นเอา4ปีหารเป็นรายปีออกมาเป็นค่างวดก็ตามก็เป็นวิธีการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์โดยชอบหาตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์มิได้แก้อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะ จำนวน 1 คัน จากโจทก์ในราคา377,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาเป็นเงิน65,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระ 48 งวด งวดละเดือนเดือนละ 6,500 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นมาซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยมิจำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยโดยพลัน แต่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองใช้รถยนต์ต่อไปอีกจนกระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2533 โจทก์จึงติดตามยึดรถยนต์ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายคืนได้ แล้วโจทก์นำรถยนต์ออกขายได้เงินเพียง 185,000 บาท ยังขาดราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์อยู่อีก 88,000 บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระเงินจำนวนที่ขาดอยู่ดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ และที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ทันทีตามสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์จากกรณีที่โจทก์อาจนำรถยนต์ให้เช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 บาท ตั้งแต่วันที่15 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนได้เป็นเงิน 54,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัทสยามกลการ จำกัด สาขาชัยนาท หนังสือมอบอำนาจและสัญญาเช่าซื้อจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ฟ้องคดีนี้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์เป็นราคาที่ซื้อขายกันเป็นเงินสด หลังจากชำระเงินบางส่วนแล้วโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีทบกับต้นเงินดังกล่าวจำนวน 4 ปี แล้วให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระภายใน48 เดือน จึงขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทสยามกลการ จำกัด สาขาชัยนาท ครบถ้วนตลอดมาแต่หลังจากงวดที่ 7 จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ไปส่งมอบคืนให้แก่บริษัทสยามกลการจำกัด สาขาชัยนาทแล้ว หากมีการซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวในขณะนั้นจะได้ราคาเงินสด 250,000 บาท หากนำราคารถยนต์ที่โจทก์ขายได้หักกลบลบหนี้แล้ว โจทก์ย่อมได้รับชำระหนี้ครบถ้วนและมิได้ขาดทุนตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์ และโจทก์เองก็มิได้ประกอบอาชีพให้ผู้อื่นเช่ารถยนต์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เกินกว่า 10 งวด ค่าเสียหายจึงน้อยกว่าที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คืนแก่บริษัทสยามกลการจำกัด สาขาชัยนาท ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2533 แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์นั้นไม่เป็นความจริงราคาค่าเช่ารถยนต์ที่เช่าซื้อไม่เกินวันละ 50 บาท โจทก์มิได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องเช่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน93,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาทเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 47,500 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่มีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความรวม 2,000 บาทแทนโจทก์มานั้นชอบหรือไม่
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางจงกลณี เขมะชิต เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อต่าง ๆ แทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะตามฟ้องจากโจทก์ สาขาชัยนาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4แต่ฝ่ายเดียว ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2532 นายประชา จันทรานุสรณ์ผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์สาขาชัยนาท ได้จัดส่งสัญญาดังกล่าวไปให้นางจงกลณีซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานครลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์เรียบร้อยแล้ว เห็นว่า แม้นางจงกลณีได้ลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อหลังจากวันที่31 ธันวาคม 2531 ไปแล้วก็ตาม แต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาก็มิได้ทักท้วง และในการลงชื่อเป็นของนางจงกลณีก็มีตราบริษัทโจทก์ประทับด้วย ทั้งยังมีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์หลายงวดและโจทก์รับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ด้วยตามพฤติการณ์ถือได้ว่า โจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การลงชื่อของนางจงกลณีในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 โดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 วรรคหนึ่งแล้ว จึงมีผลเสมือนว่านางจงกลณีได้รับมอบหมายให้ลงชื่อแทนโจทก์มาตั้งแต่ต้นดังนี้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 จึงมีคู่สัญญาลงชื่อครบถ้วนไม่เป็นโมฆะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ปัญหาต่อไปมีว่าดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เห็นว่า ราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4นั้น ได้รวมค่าเช่ากับราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเข้าไว้ด้วยกันการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อดังกล่าวไม่มีกฎหมายห้ามไว้และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นแม้ราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวโจทก์จะกำหนดโดยวิธีหักเงินชำระล่วงหน้าออกไปก่อน แล้วนำส่วนที่เหลือไปคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในจำนวน 48 งวด คือ 4 ปี คำนวณเป็นดอกเบี้ยเท่าใด บวกเข้ากับเงินที่ค้างชำระ จากนั้นเอา 4 ปีหารเป็นรายปีออกมาเป็นค่างวดดังที่จำเลยทั้งสองฎีกามาก็ตาม ก็เป็นวิธีการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์โดยชอบ หาตกเป็นโมฆะไม่
สำหรับปัญหาที่ว่าศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความ 2,000 บาท แทนโจทก์มานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท ค่าทนายความดังกล่าวในส่วนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ชอบ สมควรที่จะต้องแก้ไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์