คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นเพียงเจ้าของหอพักที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เช่าอยู่ และเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปเพื่อกิจธุระของตนเท่านั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ไว้ และจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 เพราะเจ้าของหอพักมีหน้าที่เพียงดำเนินกิจการหอพักและควบคุมการเข้าพักในหอพักเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ นายจ้าง และผู้รับอุปการะดูแลจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นตัวการใช้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ 1ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับมาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาซ้ายขาดเหนือเข่าหน้าเสียโฉม นิ้วก้อยมือซ้ายขาดคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาทและโจทก์ต้องซื้ออุปกรณ์ขาเทียมมาใช้ช่วยเดิน 6,300 บาท จำเลยที่ 1 ใช้ให้โจทก์แล้ว 20,000 บาท จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในผลละเมิดด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าอุปกรณ์ขาเทียม6,300 บาท ค่าสินไหมทดแทน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีในต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรจำเลยที่ 3 ที่ 4จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัยโดยไปเช่าหอพักอยู่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นครูบาอาจารย์ผู้อุปการะ นายจ้าง และผู้จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปกรณ์ขาเทียมเพราะยังไม่ได้ซื้อและราคาไม่เกิน 3,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินให้โจทก์ 45,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเพียงว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งรับดูแลจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 หรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นเรื่องตัวการผู้ใช้ให้กระทำ ลูกจ้างนายจ้างข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อายุ 18ปี กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย และเช่าหอพักของจำเลยที่ 2 อยู่ จำเลยที่ 2 เคยใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2ไปทำธุระให้ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 นำแป๊ปน้ำไปซ่อนที่ร้านในตลาดอำเภอเมืองสุโขทัยโดยจำเลยที่ 2 มิได้ควบคุมมาด้วย ระหว่างรอซ่อมแป๊ปน้ำจำเลยที่ 1ขับรถยนต์เลยไปบ้านเพื่อน ขณะขับรถกลับจากบ้านเพื่อนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับได้เกิดชนกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับสวนมา ทำให้โจทก์เสียหายรับอันตรายสาหัส ขาซ้ายขาดเหนือเข่า หน้าเสียโฉมติดตัวนิ้วก้อยมือซ้ายขาด เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงเจ้าของหอพักที่จำเลยที่ 1 เช่าอยู่ และเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปเพื่อกิจธุระของตนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นบุคคลผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ไว้ตามความหมายในมาตรา 430แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเจ้าของหอพักมีหน้าที่เพียงดำเนินการกิจการหอพักและควบคุมการเข้าพักในหอพักเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share