แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 ผู้กระทำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทซึ่งอยู่กับโจทก์ได้สูญหายไป ทำให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งความและออกหลักฐานการแจ้งความให้แก่จำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งเพื่อให้ออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทเล่มใหม่ให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งจดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใดซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องคงมีเพียงว่าจำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทหายไป เอามาแสดงเพื่อขอให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ให้แทนเล่มที่หายไป เช่นนี้ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ที่นายทะเบียนออกให้นั้น ก็ย่อมต้องมีข้อความตามความเป็นจริงเหมือนกับเล่มเดิมที่มีการอ้างว่าหาย ไม่มีข้อความเท็จใด ๆ อยู่ในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่เลย การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 และมาตรา 268 แต่เนื้อหาของข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องพอที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งข้อความเท็จต่อพนักงานสอบสวนตาม ป.อ. มาตรา 137 ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า เมื่อแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความไปขอออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ แล้วจำเลยที่ 1 ใช้สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการโอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่บุคคลภายนอก เช่นนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2555)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 265, 266, 267, 268, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อหาปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และแจ้งให้ เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ถึง 268 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 8 ธ – 1205 กรุงเทพมหานคร หรือไม่ เห็นว่า การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์สามารถโอนให้แก่กันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งการจดทะเบียนโอนรถยนต์มิใช่เป็นแบบของนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์ หากแต่เป็นเพียงหลักฐานที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำขึ้นตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมยานพาหนะและการเก็บภาษีรถยนต์ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น เชื่อว่าโจทก์จดทะเบียนโอนรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันตามความเป็นจริง จึงฟังได้ว่าโจทก์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท
สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่ามีผู้เติมข้อความรายการเสียภาษีรถยนต์พิพาทประจำปี 2539 และประจำปี 2540 ในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ฉบับที่โจทก์ยึดถืออยู่ก็ตาม แต่เนื่องจากสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เป็นเอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อควบคุมยานพาหนะที่ใช้กันทั่วไป มิใช่หลักฐานที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์รถยนต์ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจากนายถาวร นักวิชาการขนส่ง 5 ประจำสำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 1 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ว่า ตามหลักฐานรายการจดทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทได้มีการเสียภาษีประจำปี 2539 และประจำปี 2540 ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น แม้ข้อความที่มีการบันทึกลงในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ฉบับที่โจทก์ยึดถืออยู่จะไม่ถูกต้องตรงกับเอกสารแท้จริง ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับรายการเสียภาษีรถยนต์ในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ตามฟ้อง ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ในรถยนต์พิพาทและไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร
สำหรับความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ 4 ว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทุจริตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมักกะสันว่า สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทซึ่งอยู่กับโจทก์ได้สูญหายไป ทำให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งความจากจำเลยทั้งสองและออกหลักฐานการแจ้งความให้แก่จำเลยทั้งสองตามประจำวัน ข้อ 24 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 แล้วจำเลยทั้งสองนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 1 เพื่อให้ออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทเล่มใหม่ให้แก่จำเลยทั้งสอง และการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่หลงเชื่อออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแทนเล่มที่อ้างสูญหายแก่จำเลยทั้งสอง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทมิได้สูญหายแต่อย่างใด แต่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ กับโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 เห็นว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ผู้กระทำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 1 ดังกล่าว จดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใดซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องคงมีแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทหายไปเอามาแสดงเพื่อขอให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งดังกล่าวออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ให้แทนเล่มที่หายไป เช่นนี้ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ที่นายทะเบียนออกให้นั้นก็ย่อมต้องมีข้อความตามความเป็นจริงเหมือนกับเล่มเดิมที่มีการอ้างว่าหาย ไม่มีข้อความเท็จใดๆ อยู่ในสมุดคู่มือจดทะเบียนเล่มใหม่เลย การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และมาตรา 268 ได้เลย เนื้อหาของข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงพอที่จะรับฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า เมื่อแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานสอบสวนแล้วจำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความไปขอออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่แล้วต่อมาจำเลยที่ 2 ใช้สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการโอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่บุคคลภายนอก เช่นนี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานแจ้งความเท็จฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองสืบพยานไปเสร็จแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าไปกว่านี้อีก ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยและพิพากษาคดีนี้โดยมิต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไม่ได้สูญหาย แต่อยู่ที่โจทก์พร้อมใบมอบอำนาจและหลักฐานการโอนคืนรถยนต์พิพาทกลับมาให้โจทก์ และจำเลยที่ 2 ก็รู้ดีอยู่ว่าไม่ได้สูญหาย จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความว่าสูญหายก็เพื่อเอารถยนต์พิพาทดังกล่าวไปขาย ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า เมื่อโจทก์โอนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วโจทก์เป็นผู้เก็บสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไว้ และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและในแบบคำขอโอนรถยนต์พิพาทดังกล่าวไว้ให้แก่โจทก์จริง เพียงแต่การขายรถยนต์พิพาทดังกล่าวนั้นเป็นการตกลงใจร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โดยเมื่อตกลงใจกันดังกล่าวแล้วปรากฏว่าหาสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไม่พบ โจทก์จึงแนะนำให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งหายที่สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน แล้วจึงได้ให้จำเลยที่ 2 นำหลักฐานการแจ้งหายไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อขอออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ให้ หลังจากนั้นจึงได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่บุคคลภายนอกแล้วจึงนำเงินที่ได้จากการขายรถยนต์พิพาทดังกล่าวนำมาชำระหนี้สินทั้งของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ดังนี้ เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ ก็ไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดที่โจทก์จะนำหลักฐานการโอนเช่นใบโอนลอยซึ่งจำเลยที่ 2 ทำไว้ให้ไปขอจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทดังกล่าวกลับมาเป็นของโจทก์อีก การที่โจทก์นำใบโอนลอยดังกล่าวไปดำเนินการที่กรมการขนส่งมีน้ำหนักทำให้คำเบิกความของโจทก์ที่ยืนยันว่าโจทก์ไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วยกับการที่จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวหายมีน้ำหนักรับฟังได้ และทั้งความเป็นจริงก็ปรากฏว่าโจทก์มีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทดังกล่าวอยู่ในครอบครอง ไม่ได้สูญหายไปตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทดังกล่าวหายทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้หายแต่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ เมื่อได้หลักฐานการแจ้งความดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 2 นำหลักฐานดังกล่าวนั้นไปขอออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่แล้วนำไปใช้ในการโอนขายให้แก่บุคคลภายนอก การแจ้งความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวนั้นจึงเป็นการแจ้งความเท็จเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 แต่คำขอของโจทก์ท้ายฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 ก็แสดงว่าโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราผิด ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคงใดพอที่จะรับฟังได้ว่า ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย พฤติการณ์แห่งคดีอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่ารถยนต์พิพาทดังกล่าวนั้นเป็นของจำเลยที่ 2 จริง และจำเลยที่ 2 ทำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทดังกล่าวหายไปจริงก็เป็นได้ พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง