แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นๆ มีข้อความว่า “สำหรับผู้ไม่เคยแจ้งปริมาณ เมื่อได้มาในครอบครองซึ่งสิ่งของควบคุมตามจำนวนที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ว่าต้องแจ้งปริมาณต้องไปแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บตามกำหนดไว้ในวรรคก่อน” นั้นแสดงให้เห็นว่าสำหรับผู้ที่เคยแจ้งปริมาณไว้แล้ว หาต้องไปแจ้งใหม่ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้าวสารเกินปริมาณไม่ไปแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ เป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรมการจังหวัด ฉบับที่ 19/2489 จำเลยให้การว่าตามประกาศของคณะกรมการจังหวัดฉบับที่ 19/2489 นั้นจำเลยไม่ได้ไปแจ้งปริมาณจริง แต่จำเลยเคยแจ้งปริมาณไว้ตามประกาศควบคุมฉบับเก่าแล้ว ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ ๆ ว่าจำเลยแจ้งไว้จริง แต่ประกาศฉบับเก่ายกเลิกไปแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ความเข้าใจผิดของจำเลยเกิดจากการแปลข้อความของประกาศคณะกรมการจังหวัดซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายจะยกมาแก้ตัวไม่ได้ พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยเข้าใจผิดในข้อความของประกาศ เป็นการเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเป็นเหตุให้ไม่มีเจตนากระทำผิด พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศข้อ 2 วรรคสุดท้ายมีข้อความว่า “สำหรับผู้ที่ไม่เคยแจ้งปริมาณ เมื่อได้มาในครอบครองซึ่งสิ่งของควบคุมตามจำนวนที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ว่าต้องแจ้งปริมาณ ต้องไปแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บตามที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน” ประกอบกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายในเรื่องนี้ ในการบังคับให้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ ก็เพื่อจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทราบถึงปริมาณแห่งเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ เพื่อเพียงพอแก่ประชาชนเมื่อจำเลยแจ้งปริมาณไว้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่รายเดียวกันนั้นก็ทราบดีอยู่แล้วตามข้อความในประกาศข้อ 2 วรรคสุดท้ายก็ไม่มีข้อความไว้ชัด กลับแสดงให้เห็นว่าสำหรับผู้ที่เคยแจ้งปริมาณไว้แล้วหาต้องแจ้งใหม่ไม่และประกาศของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้ หาใช่กฎหมายหรือส่วนหนึ่งของกฎหมายไม่ หากเป็นคำสั่งของพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้สั่งให้ผู้ที่เคยแจ้งปริมาณไว้แล้ว ต้องไปแจ้งใหม่อีก จำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนประกาศ
พิพากษายืน