คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1200/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยขับรถโดยอาการน่าหวาดเสียวและโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นเป็นเหตุให้รถชนผู้อื่นบาดเจ็บบาดเจ็บสาหัสและตาย อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบกมาตรา(43)4และ(8)กับเป็นความผิดตามป.อ.มาตรา291,300และ390ด้วยนั้นถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาท โดยอาการอันน่าหวาดเสียวและโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นเหตุให้รถของจำเลยชนถูกรถยนต์โดยสารเล็ก ทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตายหลายคน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และ 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 และ 162 และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา291, 90 จำคุก 6 ปี กระทงหนึ่ง กับผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกมาตรา 43, 157 ปรับ 600 บาท อีกกระทงหนึ่ง จำเลยรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยด้วย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ และยกคำขอให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าเป็นความผิดกรรมเดียวกันทั้งหมด ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 90 เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลาายกรรมต่างกัน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ (8)กับการกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยขับรถโดยอาการน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ (8) ย่อมเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง หรือมิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ และการกระทำในลักษณะดังกล่าวก็เป็นองค์ประกอบของการกระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 ด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ(8) จึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่ในตัว การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลาบบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา90 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษาคดีมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.”

Share