แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
รูปแบบการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามสิทธิบัตรทั้ง 2 คำขอคล้ายกับรูปแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศรับสัญญาณที่มีผู้อื่นเปิดเผยและเผยแพร่มาก่อน แม้รูปแบบปีกของจำเลยทำให้การรับสัญญาณดีขึ้นก็เป็นเรื่องของประสิทธิภาพ มิใช่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 57 (1) (2) (3) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบของจำเลยจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 64
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านซ่อมแซมวิทยุโทรทัศน์มากว่า 10 ปี ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุเหลือใช้นำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุอื่นเพื่อปรับรับคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ทำการผลิตและจำหน่ายเรื่อยมา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2535 โจทก์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่โจทก์คิดค้นดังกล่าวเป็นคำขอเลขที่ 15192 พร้อมระบุข้อถือสิทธิในรูปร่าง ลักษณะของแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งแบบผลิตภัณฑ์มีเส้นยาว ตรง สั้น-ยาว 2 ขนาด และดัดงอคล้ายรูปตัว S สลับกัน ประกอบอยู่รอบโครงรูปวงกลม อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งยกคำขอ วันที่ 11 ตุลาคม 2539 จำเลยได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 2 ฉบับ เป็นคำขอเลขที่ 033669 และ 033670 พร้อมกับได้มีข้อถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ได้แก่รูปร่าง ลักษณะของเสาอากาศโทรทัศน์และวิทยุต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11854 และ 11855 ให้แก่จำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ แบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของโจทก์ มีลักษณะรูปร่างเหมือนกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมาก่อน จำเลยดัดแปลงเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยโดยเพิ่มเสาอากาศโทรทัศน์และวิทยุด้านบนขึ้นไปประกอบเข้ากับผลิตภัณฑ์ที่โจทก์เป็นผู้คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นและวางจำหน่ายเผยแพร่อยู่ทั่วไปในราชอาณาจักรแล้วเป็นเวลาหลายปี และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11855 นั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของโจทก์ที่คิดค้นและออกแบบขึ้นและคล้ายกับสิทธิบัตรของผู้อื่นตามคำขอเลขที่ 008051 014747 และ 015505 ที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว จำเลยเพียงแต่ดัดแปลงเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยโดยเพิ่มเสาอากาศโทรทัศน์และวิทยุด้านบนขึ้นไปประกอบเข้ากับผลิตภัณฑ์ที่โจทก์และผู้อื่นเป็นผู้คิดค้นและสร้างสรรค์ขึ้น การที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11854 และ 11855 จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11854 (คำขอที่ 033669) และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11855 (คำขอที่ 033670) ออกจากสารบบทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และห้ามจำเลยใช้สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่อไป หากจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11854 และ 11855 โจทก์มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือถูกโต้แย้งหรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้สิทธิศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์ถูกพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.666/2547 ในข้อหามีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตรคือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11855 เป็นฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนในคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สิทธิบัตรเลขที่ 11854 เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้คิดค้นและออกแบบสร้างสรรค์เอง มีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ไม่เคยมีวางจำหน่ายตามท้องตลาดก่อนที่จำเลยจะยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11855 นั้น จำเลยเป็นผู้คิดค้นและออกแบบสร้างสรรค์ด้วยตนเองมิได้ทำตามความคิดของโจทก์หรือของบุคคลใด ๆ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 11854 และ 11855 ของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาววรรณา ศิริมาตร์พรชัย ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อปี 2535 โจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศวิทยุและโทรทัศน์ตามรูป (เครื่องหมายการค้า) เอกสารหมาย จ.2 กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแล้วไม่อนุมัติโดยอ้างเหตุคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่เคยมีประกาศโฆษณาอันเป็นงานของพันตรีอรุณ สายปิ่น ที่ปัจจุบันหมดอายุการคุ้มครองแล้วมาก่อนตามเอกสารหมาย จ.3 ครั้นปี 2539 จำเลยไปยื่นขอจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศโทรทัศน์และวิทยุรวม 2 คำขอ กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดให้ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ต่อมาจำเลยแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในข้อหาผลิตสินค้าละเมิดสิทธิบัตรฯ เอกสารหมาย จ.6 ของจำเลย มีปัญหาที่เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยรับอยู่ในบันทึกถ้อยคำว่าได้มอบอำนาจให้นายวทัญญู ภูริพงษ์ชัย พยานจำเลยไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานทำละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยเลขที่ 11855 ตามเอกสารหมาย จ.6 และพนักงานอัยการได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.666/2547 หมายเลขแดงที่ อ.235/2548 ซึ่งเมื่อพิจารณาสิทธิบัตรของจำเลยตามคำขอตามเอกสารหมาย จ.5 ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นคดีนี้ที่มีความแตกต่างจากแบบตามเอกสารหมาย จ.6 เพียงรัศมีที่เป็นเส้นยาวมีการดัดงอเป็นรูปคล้ายตัว S แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า แบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้ง 2 คำขอตามสิทธิบัตรที่ได้รับคือเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ ในประการนี้โจทก์มีตัวโจทก์และผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์มานำสืบประกอบเอกสารว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้ง 2 คำขอเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่เคยยื่นคำขอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแล้วไม่รับจดสิทธิบัตรให้โดยอ้างว่าคล้ายแบบผลิตภัณฑ์และงานที่ปรากฏอยู่แล้วของบุคคลอื่นตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 นอกจากนี้ยังคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ของบุคคลอื่นที่เปิดเผยแล้ว คือของพันตรีอรุณ สายปิ่น ตามเอกสารหมาย จ.4 (เครื่องหมายการค้า) และของนายสันทัด พหลทัพ ตามเอกสารหมาย จ.7 (เครื่องหมายการค้า) กับคล้ายของนางสาวจุฬารัตน์ วังชัยสุนทร ตามเอกสารหมาย จ.8 (เครื่องหมายการค้า) จำเลยมีตัวจำเลยและนายวทัญญู ภูริพงษ์ชัย มานำสืบต่อสู้ว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยเป็นความคิดสร้างสรรค์ของจำเลยกับทีมงานซึ่งไม่คล้ายกับของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มิได้ไปคัดค้านในการที่จำเลยไปยื่นขอสิทธิบัตร นอกจากนี้สิทธิบัตรตามรูปแบบเอกสารหมาย จ.6 ยังเป็นการนำเอาสิทธิบัตรรูปแบบของจำเลยอีกหนึ่งสิทธิบัตรตามเอกสารหมาย จ.12 (เครื่องหมายการค้า) ไปติดตั้งบนรูปแบบเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งจะทำให้การรับสัญญาณดีขึ้น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ สำหรับรูปแบบตามเอกสารหมาย จ.6 ก็ไม่เหมือนกับรูปแบบตามเอกสารหมาย จ.4 เพราะปีกตัวล่างไม่เหมือนกัน เห็นว่า สิทธิบัตรตามคำขอของจำเลยทั้ง 2 คำขอเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจำเลยจะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2539 แล้ว จำเลยยังได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เฉพาะปีกส่วนบนอีกหนึ่งคำขอตามเอกสารหมาย จ.12 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 โดยมีรูปร่างคล้ายบุมเบอแรง ในการตอบคำถามค้านทนายโจทก์ พยานจำเลยทั้งสองต่างรับอยู่ว่ารูปแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศของจำเลยเป็นการนำชิ้นส่วน 2 ชิ้น มาประกอบกัน ชิ้นแรกคือส่วนฐานที่เป็นวงกลมนั้น โจทก์มีเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเป็นคำเบิกความของตัวจำเลยในฐานะพยานที่โจทก์ในคดีที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานละเมิดลิขสิทธิ์การออกแบบผลิตภัณฑ์เอกสารหมาย จ.6 ของจำเลย โดยจำเลยรับว่าแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นฐานส่วนวงกลมของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นการนำมาจากแบบผลิตภัณฑ์ของพันตรีอรุณ สายปิ่น ตามเอกสารหมาย จ.4 ที่หมดอายุความคุ้มครองและตกเป็นสาธารณะแล้ว จึงคงเหลือปัญหาแต่เฉพาะรูปแบบส่วนล่างตามเอกสารหมาย จ.5 และส่วนบนที่มีรูปแบบเป็นปีกคล้ายบุมเบอแรงที่จำเลยอ้างว่าทำให้การรับสัญญาณดีขึ้น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ ซึ่งจำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.12 เท่านั้น ซึ่งเฉพาะรูปแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.5 หากนำมาเปรียบเทียบกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่โจทก์เคยยื่นขอจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้เช่นกัน โดยเป็นการยื่นก่อนจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 แล้ว จะเห็นได้ว่าคล้ายกันมาก ต่างกันเพียงรัศมีที่เป็นรูป S มีจำนวนมากน้อยกว่ากันเท่านั้น สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ในส่วนที่เป็นปีกช่วงบนก็เช่นกัน เมื่อพิจารณาเอกสารในประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศที่นับว่ามีการเปิดเผยและเผยแพร่ต่อสาธารณะตามเอกสารหมาย จ.8 ที่ระบุชื่อผู้ออกแบบและขอสิทธิบัตรว่าเป็นนางสาวจุฬารัตน์ วังชัยสุนทร ที่ส่วนบนมีรูปลักษณะเป็นปีกเช่นกัน แต่คล้ายไม้แขวนเสื้อคว่ำแล้ว นับว่ามีความคล้ายกันกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ช่วงบนตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 อยู่มาก เพราะมีรูปลักษณะเป็นปีกเหมือนกัน เพียงแต่ปีกตามผลิตภัณฑ์ของจำเลยเชิดขึ้นเป็นรูปบุมเบอแรงเท่านั้น เมื่อปรากฏว่ารูปแบบตามเอกสารหมาย จ.8 ระบุยื่นคำขอเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 และประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2536 อันเป็นวันก่อนที่จำเลยจะขอจดสิทธิบัตรตามเอกสารหมาย จ.5 จ.6 และ จ.12 รูปแบบการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามสิทธิบัตรทั้ง 2 คำขอจึงนับว่าคล้ายกับรูปแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศรับสัญญาณตามเอกสารหมาย จ.8 ที่มีการเปิดเผยและเผยแพร่มาก่อน แม้จำเลยจะอ้างว่ารูปแบบปีกของจำเลยทำให้การรับสัญญาณดีขึ้นก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จึงหาเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 57 (1) (2) (3) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบของจำเลยจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 64 อันมีผลให้ถูกเพิกถอนได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามสิทธิบัตรเลขที่ 11854 และ 11855 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.