คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง
กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จำเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 92, 337, 371 ริบของกลางทั้งหมด เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายและนับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4721/2547 ของศาลอาญาธนบุรี และนับโทษจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2184/2547 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธมีด ปรับ 90 บาท ฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 3 ปี ปรับ 90 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามเป็นจำคุก 4 ปี ปรับ 120 บาทจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำคุกคนละ 3 ปี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4721/2547 ของศาลอาญาธนบุรี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกตลอดชีวิตของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2184/2547 ของศาลอาญาธนบุรี ข้อหาอื่นให้ยก ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ยกคำขอให้ริบของกลางอื่นนอกจากมีดปลายแหลม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานกรรโชกโดยมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (2) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ที่ว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งห้าเป็นการร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า แม้ถ้อยคำที่กลุ่มจำเลยทั้งห้าโทรศัพท์มาทวงหนี้จากผู้เสียหาย จะไม่ปรากฏว่า หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้แล้วกลุ่มจำเลยทั้งห้าจะทำร้ายผู้เสียหายกับบุตร ภรรยาอย่างไร ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าถ้อยคำที่ว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรม ที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อน และเป็นอันตรายเสียมากกว่า ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยต่อไปว่า ขณะจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 4 อยู่ในร้านอาหารที่เกิดเหตุนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยังไม่มีการพูดขู่เข็ญผู้เสียหายแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุเกิดต่อเนื่องจากวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหายกับภรรยาผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน จึงถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ฉะนั้นแม้ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกตรวจค้นจับกุมโดยที่ยังไม่ทันได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหาย จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายแต่ระบุชื่อภรรยาผู้เสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ก็หาเป็นสาระสำคัญไม่ ประกอบกับได้ความจากพันตำรวจตรีแสวงและร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ ซึ่งซุ่มดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า ที่เข้าตรวจค้นก่อนเพราะเห็นว่ามีลักษณะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันที่มองกันไปมองกันมา แม้จะนั่งอยู่ห่างกันก็ตาม ขณะเดียวกันในวันดังกล่าวผู้เสียหายก็ไม่ได้ไปโดยลำพัง แต่มีสิบตำรวจโทขวัญชัย เจ้าพนักงานตำรวจที่พันตำรวจตรีแสวงให้ปลอมตัวไปนั่งเป็นเพื่อนผู้เสียหายอยู่ด้วย ฉะนั้น โดยวิสัยของคนร้ายในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์แล้ว เชื่อว่าคงไม่ผลีผลามจู่โจมเข้าขู่เข็ญผู้เสียหายทันทีที่พบเห็นแต่จะต้องสงวนท่าทีมองดูรอบข้างให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจดักซุ่มจับกุมอยู่ด้วย จึงจะเข้าพูดคุยกับผู้เสียหาย ดังนั้นที่ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์เฝ้ารออยู่ประมาณ 10 นาที เห็นลักษณะอาการของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่โทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จึงขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเพื่อตรวจค้นจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทันทีก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ปัญหาประการสุดท้ายที่ว่า ก่อนที่ผู้เสียหายจะไปตามที่นัดหมาย ผู้เสียหายได้แวะปรึกษาแจ้งเหตุให้พันตำรวจตรีแสวงทราบและวางแผนจับกุมกลุ่มคนร้ายนั้น ถือว่าผู้เสียหายกลัวและยินยอมตามที่จำเลยทั้งห้าขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกสำเร็จแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายเดินไปสถานที่นัดหมายเป็นเพราะไปตามคำขู่ของจำเลยทั้งห้า หาได้ไปด้วยความสมัครใจไม่ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัวนั้น จึงเป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติ กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้นการกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้วไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันวางแผนและแบ่งหน้าที่กันกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share