คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นการละเมิดต่อกรมโจทก์ โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทำการสอบสวนแล้วได้รายงานให้โจทก์ทราบว่าจำเลยทำละเมิดและจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่ง ธ. รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีโจทก์ได้บันทึกลงในรายงานฉบับนี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 ให้กองนิติการพิจารณาเสนอด้วย ธ. จึงทราบตามรายงานแล้วว่า จำเลยทำละเมิดและจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อ ธ. เป็นผู้แทนของโจทก์จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 แล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2536 เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 42,267.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 74,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทราบการละเมิดและผู้กระทำละเมิดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2534 แล้วแต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2536 ซึ่งเกินกว่า1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 จากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 3 ในสังกัดของโจทก์ประจำฝ่ายปลูกสร้างสวนป่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน2526 จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากโจทก์ให้ไปดูแลรักษาสวนป่าควนเขาวัง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์เขตสงขลา ซึ่งสวนป่าดังกล่าวมีสภาพไม่เหมาะแก่การปลูกป่ากล้าไม้ขนาดเล็กที่ปลูกจึงตายลงเรื่อย ๆ จำเลยที่ 1 ไม่รายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวเสนอโจทก์ให้ยกเลิกการปลูกสวนป่าแต่ได้เบิกเงินบำรุงรักษาสวนป่าในปี 2526 และปี 2527ตลอดมาเป็นเหตุให้โจทก์สูญเสียงบประมาณได้รับความเสียหาย คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่โจทก์ตั้งขึ้นมีความเห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์และจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นเงินงบประมาณค่าบำรุงรักษาป่าที่จำเลยที่ 1 เบิกไปให้แก่โจทก์คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ทำรายงานสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2534 เสนอต่ออธิบดีผู้แทนโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดและจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณค่าบำรุงรักษาป่าให้แก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 นายธำมรงค์ ประกอบบุญ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีโจทก์ได้บันทึกท้ายรายงานที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 ให้กองนิติการพิจารณาเสนอความเห็นด้วย ซึ่งกองนิติการได้เสนอความเห็นลงวันที่ 22 ตุลาคม 2535 ว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามความเห็นที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอมาพร้อมทั้งได้ร่างหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายมาเพื่อให้นายธำมรงค์ลงนามด้วยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 และนายธำมรงค์ได้บันทึกท้ายหนังสือความเห็นของกองนิติการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2535 ว่าชอบ ลงนามแล้ว

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมีข้อกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบคือกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น หลังจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวสอบสวนแล้ว ได้รายงานให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดและจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งโจทก์โดยนายธำมรงค์ ประกอบบุญรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีโจทก์ได้บันทึกลงในรายงานฉบับนี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 ให้กองนิติการพิจารณาเสนอด้วย การที่นายธำมรงค์บันทึกดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า นายธำมรงค์ได้ทราบตามรายงานที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอแล้วว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดและจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 เมื่อนายธำมรงค์เป็นผู้แทนของโจทก์จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 แล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2536 เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วเช่นนี้ ประเด็นข้ออื่นก็ไม่จำต้องวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share