แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มารดาทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่เขา โดยได้รับเงินค่าที่ดินนั้นไว้บางส่วน และส่งมอบที่ดินให้เขาครอบครองแล้ว ครั้นมารดาถึงแก่กรรม บุตรผู้เป็นทายาทได้ไปขอรับเงินค่าที่ดินนั้นเพิ่มเติมจากผู้ซื้อ และรับว่าจะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่ดินนั้น ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้
ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินให้แก่เขา แล้ว กลับเอาที่ดินไปจดทะเบียนการซื้อขายกันที่อำเภอ เมื่อปรากฎว่าญาติผู้ซื้อรับโอนที่ดินรายนี้ไว้โดยไม่สุจริต ล่วงรู้ถึงพฤติการณ์อันทำให้ผู้ซื้อคนแรกเป็นเจ้าหนี้ผู้ขายต้องเสียเปรียบแล้ว ผู้ซื้อคนแรกก็มีสิทธิที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายรายหลังนี้ได้ ตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 237
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มารดาจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจะขายที่นาพิพาท ซึ่งยังไม่มีโฉนดให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ชำระราคาไปบ้างแล้ว และได้รับมอบนาพิพาทมาครอบครองตลอดมา บัดนี้มารดาจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ บิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา และยังสมยอมกับจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ เอานาพิพาทไปทำสัญญาขายแกาจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยทั้ง ๒ สมคบกันเพื่อฉ้อโกงโจทก์ จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ – ๒ เสีย และให้จำเลยที่ ๑ โอนขายที่นาพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญา
จำเลยต่อสู้คดีหลายประการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยเสีย กับให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโฉนดขายที่นาพิพาทแก่โจทก์ ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดก จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมารดาจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้มารับสภาพหนี้โดยขอรับเงินที่ดินรายนี้อีกบางส่วนจากโจทก์ และรับปฏิบัติตามสัญญา คดีจึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนข้อขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายนั้น ปรากฎว่า จำเลยที่ ๒ เป็นน้องมารดาจำเลยที่ ๑ มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดกัน ตามพฤติการณ์ต่าง ๆ เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๒ รับโอนที่นาพิพาทโดยไม่มสุจริต ล่วงรู้พฤติการณ์อันทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงชอบที่จะให้เพิกถอนนิติกรรมนี้เสียได้ตามมาตรา ๒๓๗. ฯลฯ
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับกคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น