คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่ง ผู้เป็นเจ้าของมีแต่ เพียงสิทธิครอบครองแม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทและได้กระทำไปโดย ไม่ ชอบ ด้วย กฎหมาย เพราะจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของ ซึ่ง เป็นบุตรผู้เยาว์และขายโดย ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก็ตาม แต่ เจ้าของที่ดิน พิพาททุกคนโดยเฉพาะ จำเลยที่ 4 หลังจากบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ แสดงเจตนาโดย แจ้งชัดว่ายอมสละและส่งมอบการครอบครองทั้งทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้ผู้ร้องที่ 1 แล้วผู้ร้องที่ 1ได้ เข้าครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อ กันมาโดยตลอด ผู้ร้องที่ 1ย่อมได้ สิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กู้ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 ที่ 4เป็นผู้ค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 205,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียมต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน น.ส.3 ทะเบียนเล่ม 1 หน้า 113เลขที่ 55 ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่14 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวา ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องว่าที่ดินตาม น.ส.3 ดังกล่าวเป็นส่วนของผู้ร้องที่ 1 จำนวน 11 ไร่ 3 งาน50 ตารางวา เป็นส่วนของผู้ร้องที่ 2 จำนวน 5 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวาผู้ร้องทั้งสองครอบครองโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนายึดถือเพื่อตนจดทะเบียนรับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 4 ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 4 ซึ่งรับโอนมาทางมรดกจากบิดามารดา ผู้ร้องทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับซื้อที่พิพาทโดยไม่สุจริต และเป็นการฉ้อฉล คำร้องผู้ร้องที่ 1 เคลือบคลุม ผู้ร้องทั้งสองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์พิพาทขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนการยึดทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องที่ 1 กับโจทก์นำสืบรับและไม่โต้เถียงกันฟังได้เบื้องต้นว่านายจันทร์หรือจัน กองเกิน ได้นางไปหรือไปล่จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 6 คนคือ จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 นางปัน นายมงคล กับนายบุญเกิด เดิมนายจันทร์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.1 เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน76 ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. 2522 นายจันทร์ได้แบ่งขายให้นายปิ่นวันเมือง ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 5 ไร่ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมายร.10 นายจันทร์ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2522 ตามมรณบัตรเอกสารหมาย ร.2 ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523 จำเลยที่ 1 ได้แบ่งขายที่ดินส่วนที่เหลือให้นายรักษ์ พลน้อย สามีของผู้ร้องที่ 1จำนวน 6 ไร่ ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย ร.1 และต่อมาปี พ.ศ. 2524จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือให้นายรักษ์อีก โดยไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายเพราะว่าได้มอบ น.ส.3 ให้นายรักษ์ไว้ก่อนแล้วนายรักษ์ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2527 ระหว่างตั้งแต่นายจันทร์กับจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องที่ 2 กับนายรักษ์จนถึงนายรักษ์ถึงแก่กรรม ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกันจนกระทั่งจำเลยที่ 4 บรรลุนิติภาวะแล้วต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2528จำเลยที่ 4 จึงได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทของนายจันทร์ และในวันเดียวกัน ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน เอกสารหมายร.3 ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 ผู้ร้องที่ 1 จึงได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.9แล้วขอออก น.ส.3 ก. และแบ่งแยกที่ดินให้ผู้ร้องที่ 2 ตาม น.ส.3 ก.เอกสารหมาย ร.4 และ ร.12 คดีสำหรับผู้ร้องที่ 2 กับโจทก์ยุติมาแต่ศาลชั้นต้นคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ที่ดินพิพาทตามน.ส.3 ก. เอกสารหมาย ร.4 เป็นที่ดินของผู้ร้องที่ 1 หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า หลังจากนายจันทร์ถึงแก่กรรมแล้วที่ดินพิพาทตกเป็นมรดกของบุตรทั้ง 6 คน จำเลยที่ 1 เป็นแต่เพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนบุตรจึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่นายรักษ์สามีของผู้ร้องที่ 1 การซื้อขายเป็นโมฆะ และขณะนั้นบุตรทุกคนมิได้ให้ความยินยอม ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลโดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นแต่เพียงผู้ครอบครองแทนบุตรของนายจันทร์เท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 นำสืบว่าหลังจากสามีซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วตนกับสามีและบุตรได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยมีนายนวน วันเมืองผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ทั้งเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายให้ผู้ร้องที่ 2 ได้เบิกความยืนยันดังที่ผู้ร้องที่ 1 นำสืบนอกจากนี้ผู้ร้องที่ 1 มีนายประเสริฐ พูลสิงห์ กำนันท้องที่เบิกความประกอบเช่นเดียวกันว่า นายจันทร์กับจำเลยที่ 1 ได้ไปตกลงขายที่ดินพิพาทให้สามีของผู้ร้อง 1 ที่บ้านของตนและขณะนี้บุตรของผู้ร้องที่ 1 ก็เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท นายสมโภชน์พลน้อย บุตรของผู้ร้องที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่า เมื่อนายรักษ์ซื้อที่ดินพิพาทแล้ว นายรักษ์กับผู้ร้องที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา และนายเฉย วันเพ็ง ซึ่งเคยให้จำเลยที่ 1 กู้เงินและเคยถือ น.ส.3 ที่ดินพิพาทไว้ ทั้งได้เป็นพยานในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายรักษ์ก็เบิกความว่า ขณะนี้ผู้ร้องที่ 1 กับบุตร ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ยิ่งไปกว่านี้ผู้ร้องที่ 1 ยังมีจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ขายที่ดินพิพาทให้เบิกความยืนยันมั่นคงว่า เมื่อตกลงขายที่ดินพิพาทให้แล้วไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์อีกเลย นายรักษ์ได้ทำกินตลอดมาจนกระทั่งนายรักษ์ถึงแก่กรรม ผู้ร้องที่ 1 กับบุตรของนายรักษ์ก็ทำกินในที่ดินต่อมา ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์ นายตุ๋ยเป็ดดา นายเลื่อน เรืองดี และนายสมชาย ศุภสาร เบิกความประกอบสนับสนุนซึ่งกันและกันว่า หลังจากนายจันทร์ถึงแก่กรรม เห็นจำเลยที่ 1 กับบุตรทำประโยชน์ในที่ดินต่อมาแต่นายเลื่อนกลับยืนยันว่าแต่สองสามปีมานี้ จำเลยที่ 1 กับบุตรไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทคงเห็นผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว และตัวโจทก์เองยังเบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 ได้ไปพบเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหล่มสัก ขณะนั้นผู้ร้องที่ 1 ก็อยู่ด้วยและบอกว่า ถ้าหากคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกถึงที่สุดแล้วโจทก์ชนะคดี ผู้ร้องที่ 1 จะคืนที่ดินให้โจทก์ แสดงว่า ขณะที่โจทก์อ้างว่าพบผู้ร้องที่ 1 นั้น โจทก์ได้ทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องที่ 1 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพยานสำคัญประกอบกับนายนวนซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่เบิกความสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับเรื่องการครอบครองที่ดินพิพาทนี้ มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เชื่อได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลังจากที่นายรักษ์สามีของผู้ร้องที่ 1ได้ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ตลอดมา ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 นำเอาที่ดินพิพาทไปขายโดยบุตรทุกคนไม่ยินยอมนั้น ก็ได้ความจากผู้ร้องที่ 1 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4และนายประเสริฐว่า ตอนที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้นายรักษ์ครั้งหลัง ได้ทำการซื้อขายกันที่บ้านของนายประเสริฐจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 4 ไปด้วยกัน ทั้งจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ยืนยันด้วยว่า บุตรทุกคนไม่คัดค้าน แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบหักล้างคำของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือครั้งสุดท้ายไปขายให้นายรักษ์ด้วยความรู้เห็นและยินยอมของบุตรทุกคน และที่โจทก์ฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปขายเพราะขณะนั้นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่ได้รับอนุญาตจากศาล การซื้อขายจึงเป็นโมฆะ นายรักษ์ผู้รับโอนจึงไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งผู้เป็นเจ้าของมีแต่เพียงสิทธิครอบครอง แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทและได้กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามแต่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่เห็นได้ชัดว่า บุตรของนายจันทร์ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาททุกคนโดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ได้มีการแสดงเจตนาโดยแจ้งชัดว่า ยอมสละและได้ส่งมอบการครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 1 หลังจากที่ได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แล้ว ยิ่งไปกว่านี้ยังปรากฏว่า หลังจากที่จำเลยที่ 4บรรลุนิติภาวะและได้รับโอนที่ดินพิพาทในฐานะทายาทผู้รับมรดกแล้วได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้ผู้ร้องที่ 1 เท่ากับเป็นการยืนยันให้เชื่อมั่นขึ้นว่า ตัวจำเลยที่ 4 เองซึ่งเป็นบุตรของนายจันทร์อันเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกได้เจตนาขายและสละการครอบครองให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ทำสัญญาซื้อขายกันตามเอกสารหมาย ร.1 ซึ่งเป็นเวลาถึง 4-5 ปี ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ ผู้ร้องที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินพิพาทรายนี้ สำหรับฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายที่ว่า ผู้ร้องที่ 1รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นหนี้โจทก์แต่ยังจดทะเบียนรับซื้อที่ดินพิพาทไว้ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการฉ้อฉลโจทก์นั้นเห็นว่า ในเมื่อคดีฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นเวลาหลายปี ทั้งผู้ร้องที่ 1 ก็ยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักโจทก์ และไม่เคยทราบว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์อีกด้วย โจทก์เองเพียงแต่เบิกความอ้างว่า ตอนไปพบเจ้าพนักงานที่ดินที่อำเภอหล่มสัก ได้พบผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 1 บอกว่า ถ้าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ถึงที่สุดและโจทก์ชนะคดีแล้ว จะคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์เท่านั้น ซึ่งเป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ถึงแม้จะเป็นจริงดังโจทก์ว่า ก็หาฟังได้ไม่ว่าการกระทำของผู้ร้องที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์ เพราะผู้ร้องที่ 1 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาก่อนที่ได้พบโจทก์ดังกล่าวเป็นเวลาถึง5 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ถอนการยึดทรัพย์ของผู้ร้องที่ 1 นั้น ชอบแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share