คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้าง มีหน้าที่เป็นคนครัวซักเสื้อผ้าและอื่นๆ ภายในบ้าน ถ้ามีเวลาว่างจึงช่วยดูแลเด็ก จำเลยได้นำเด็กอายุ10 เดือน ซึ่งเป็นลูกของนายจ้างไปฝากผู้มีชื่อไว้โดยจำเลยอ้างว่าเป็นบุตรของจำเลยเอง เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กไปเสียจากผู้ปกครองตามมาตรา 317 ส่วน มาตรา 306,307 เป็นเรื่องทอดทิ้งเด็กไว้ ไม่ใช่การพาไปหรือพรากไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ของนายเชากวงนายจ้าง และจำเลยพาเด็กชายเตียงเคียว อายุ 10 เดือน พรากไปเสียจากนายเชากวงผู้บิดาจำเลยเคยต้องโทษมาแล้ว ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษ

จำเลยรับสารภาพฐานลักทรัพย์และรับในข้อเคยต้องโทษ ส่วนข้อพาเด็กไปจากบิดามารดา จำเลยรับว่าพาไปจริง แต่เพราะเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ๆ ร้องตาม จึงขาดเจตนา ไม่เป็นความผิด

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) จำคุก 1 ปี 6 เดือน กับฐานพรากเด็กไปจากบิดามารดาตาม มาตรา 317 จำคุก 4 ปี 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 6 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามมาตรา 92 เป็น 8 ปี ลดรับกึ่งตามมาตรา78 คงจำคุก 4 ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ในเรื่องพาเด็กไปจากบิดามารดานั้น ควรลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 306, 307 และการเพิ่มโทษจำเลยก็เพิ่มไม่ได้ เพราะ พระราชบัญญัติล้างมลทินฯไม่ถือว่าจำเลยเคยต้องโทษ

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นลูกจ้างนายเชากวงเพียงวันเดียวก็เกิดเหตุ มีหน้าที่เป็นคนครัวซักเสื้อผ้าและอื่น ๆ ภายในบ้าน ถ้ามีเวลาว่างจึงช่วยดูแลเด็ก ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่าเด็กร้องตาม จึงฟังไม่ได้ จำเลยเองก็ยังเบิกความรับว่าได้นำเด็กไปฝากผู้มีชื่ออ้างว่าเป็นบุตรของจำเลยเอง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กไปเสียจากผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ส่วน มาตรา 306, 307 เป็นเรื่องทอดทิ้งเด็กไว้ ไม่ใช่การพาไปหรือพรากไป

ปัญหาเรื่องเพิ่มโทษได้ความว่า เพิ่งพ้นโทษฐานลักทรัพย์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2500 ภายหลังวันใช้ พระราชบัญญัติล้างมลทินฯแล้ว จำเลยจึงไม่ได้รับผลจากการล้างมลทินแต่ประการใด

ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share