คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักร เห็นว่าโจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและสำแดงราคาสินค้าไม่ถูกต้อง โจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น ให้โจทก์นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปวางเป็นประกันค่าภาษีอากรไว้ ทั้งการกระทำของโจทก์มีความผิดฐานสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 และ 99 จึงมีหนังสือเรียกให้โจทก์ไปตกลงระงับคดีอาญา ซึ่งหากโจทก์ยอมเสียค่าปรับ 2 เท่า ของอากรที่ขาดโดยคำนวณจากราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามคำเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ย่อมทำให้คดีอาญาระงับตามมาตรา 102 และ 102 ทวิ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับจำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติศุลกากรกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกล่าวหาหรือคำสั่งของจำเลยที่ตีราคาสินค้าโจทก์แล้วนำไปกำหนดค่าปรับ และโจทก์ไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยคืนหลักประกันค่าภาษีอากรจนกว่าโจทก์จะชำระเงินอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบตามมาตรา 112 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าจำเลยตีราคาสินค้าโจทก์แล้วประเมินโดยคำนวณอากรขาเข้า ภาษีการค้า จากราคาสินค้าที่ตีเพิ่มตามที่กล่าวในฟ้องไม่ชอบ ให้ยกเลิกเพิกถอนการตีราคาสินค้า ประเมินอากรดังกล่าวนั้นเสีย และให้ศาลพิพากษาว่าที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์แสดงรายการสินค้าเป็นเท็จทำให้ภาษีอากรขาดแล้วกำหนดปรับโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 และ 8 ที่กล่าวในฟ้องไม่ชอบ ให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวนั้นเสียกับให้จำเลยคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 400,000 บาท และ 783,000 บาทแก่โจทก์จำเลยให้การว่า การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ใช้ดุลพินิจในการประเมินราคาสินค้าของโจทก์เสียใหม่ เมื่อเห็นว่าโจทก์สำแดงราคาไว้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ได้กระทำความผิดโดยสำแดงเท็จสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการสินค้า เลขที่ 049-50270และบัญชีราคาสินค้า (ใบอินวอยซ์) ซึ่งต่อมาจำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร แต่โจทก์ไม่ยอมไป จำเลยจึงได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญากับโจทก์ซึ่งจำเลยยังรอผลคดีอาญาอยู่ เนื่องจากโจทก์ไม่ไปทำความตกลงระงับคดี และเพื่อรอผลคดีอาญาถึงที่สุด จำเลยจึงไม่ได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากรให้โจทก์ทราบ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ขอให้โจทก์ไปตกลงระงับคดีและดำเนินคดีอาญาฐานสำแดงเท็จ
สำหรับหลักทรัพย์ที่โจทก์นำธนาคารกรุงเทพ จำกัด มาค้ำประกันนั้น เมื่อพิจารณาจากหนังสือค้ำประกันฉบับดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้ระบุไว้ว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด ขอเข้าเป็นผู้ค้ำประกันต่อกรมศุลกากร โดยสัญญาว่าหากบริษัทเสรีวัฒนาอุตสาหกรรม จำกัดไม่จัดการชำระเงินดังกล่าวต่อกรมศุลกากรภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งผลการประเมินให้ชำระ ธนาคารจะเข้าชำระเงินแทนให้กรมศุลกากรภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ชำระทั้งนี้ จำนวนเงินทั้งสิ้นที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด รับผิดชอบตามสัญญานี้จะต้องไม่เกิน 400,000 บาท และ 783,000 บาท ตามลำดับและกรมศุลกากรไม่จำต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้หรือบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและสัญญาค้ำประกันนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2529 ตลอดไปจนกว่ากรมศุลกากรจะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจนครบถ้วน โจทก์จึงไม่มีสิทธิให้จำเลยคืนเงินประกัน หรือหลักทรัพย์แก่โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2529 โจทก์ได้ซื้อกระบอกลูกสูบเครื่องยนต์ยี่ห้อ เอ็น.พี.อาร์. จากบริษัทเอ็น.พี.อาร์. นิปปอนพิสตอนริง จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น จำนวน4,770 ชิ้น รวม 21 รายการ เข้ามาในราชอาณาจักร ครั้นวันที่ 3เมษายน 2529 โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยสำแดงราคาสินค้าคิดเป็นเงินไทย 1,759,942.57 บาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าราคาที่สำแดงไว้ต่ำไป ให้โจทก์นำเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันวางต่อจำเลย โจทก์จึงได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด วางประกันในวงเงิน400,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ขอตรวจปล่อยสินค้าจากเจ้าหน้าที่ของจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ยอมตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์สำแดงหมายเลขของอะไหล่แท้ไม่ถูกต้องและสินค้าบางรายการมียี่ห้อฮีโน่ปรากฏในตัวสินค้าที่โจทก์นำเข้ามา โจทก์จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น การกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 27 และ 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469และให้โจทก์หาประกันเพิ่มเติมอีก โจทก์ได้นำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด วางประเด็นอีกในวงเงิน 783,000 บาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2529 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ขอให้ไปทำความตกลงระงับคดีโดยให้โจทก์เสียค่าปรับ 2 เท่า ของอากรที่ขาดตามคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรซึ่งใช้ปฏิบัติในการระงับคดี แต่โจทก์ไม่ยอมไปเสียค่าปรับ จึงระงับคดีทางอาญาไม่ได้ จำเลยจึงได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ข้างต้นเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสินค้าที่โจทก์นำเข้า เมื่อเห็นว่าสินค้าที่นำเข้าไม่ตรงกับใบขนสินค้า แสดงว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่ผ่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจให้วางเงินเป็นประกันหรือให้มีการค้ำประกันของธนาคารแทนการวางเงิน และถ้าเห็นว่ามีการทำคำสำแดงเท็จ อาจมีความผิดจะต้องรับโทษทางอาญา กรณีเช่นนี้จำเลยอาจจะตกลงงดการฟ้องร้องทางอาญาได้ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 99, 102 และ 112 การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยในคดีนี้ ปรากฏว่าเมื่อได้ตรวจสินค้าโจทก์เห็นว่าจะเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง ก็ให้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปวางประกันไว้ทั้งการกระทำของโจทก์อาจมีความผิดทางอาญาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากร จึงได้มีหนังสือเรียกโจทก์ให้ไปตกลงระงับคดี เมื่อโจทก์ไม่ไปตามที่จำเลยมีหนังสือแจ้งจำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติศุลกากรกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจจะฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกล่าวหาหรือคำสั่งใดของจำเลยได้ และในกรณีที่มีการวางประกันค่าอากร เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินอากรอันจะพึงเสียและแจ้งให้ผู้นำเข้าทราบ ผู้นำเข้าต้องชำระเงินอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบตามมาตรา 112 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 โจทก์ก็จะได้รับหลักประกันคืน คดีนี้เมื่อยังโต้เถียงจำนวนค่าภาษีอากรกันอยู่โจทก์ยังไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยคืนหลักประกันในชั้นนี้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ยกเลิกคำสั่งจำเลยที่ตีราคาสินค้าโจทก์แล้วนำไปกำหนดค่าปรับนั้น เห็นว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่ามีการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากร ถ้าโจทก์ยอมเสียค่าปรับตามคำเปรียบเทียบก็ย่อมทำให้คดีอาญาระงับไปได้ ตามมาตรา 102 และ 102 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 ในการกำหนดค่าปรับจำเลยได้มีคำสั่งอ้างเกณฑ์ระงับคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการและเป็นธรรมแก่คู่กรณี ซึ่งตามลักษณะการกระทำของโจทก์ ถ้าจะเปรียบเทียบปรับจะต้องปรับ 2 เท่าของอากรที่ขาด ในการคำนวณอากรที่ขาดจำเป็นจะต้องเอามาจากราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้า โดยถือราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสินค้าแล้วเห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าโจทก์ได้ระบุว่าเป็นกระบอกสูบเครื่องยนต์ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าเอ็น.พี.อาร์. แต่ในตัวสินค้ามียี่ห้อหรือเครื่องหมายรถยนต์ฮีโน่ และบางรายการเป็นอะไหล่กระบอกสูบรถยนต์ยี่ห้อรถยนต์ฮีโน่ โตโยต้า และนิสสัน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ถือเอาราคาตามที่บริษัทรถยนต์ฮีโน่ โตโยต้า และนิสสัน นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นราคาเทียบเคียงโดยลดให้ร้อยละห้า แล้วถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เพื่อนำไปคำนวณหาอากรที่ขาดแล้วได้กำหนดเป็นเกณฑ์ให้โจทก์เสียค่าปรับอันจะได้ระงับคดีทางอาญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบได้ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับจำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับได้ เพียงแต่ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป จึงไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามที่โจทก์ขอแต่อย่างใด”
พิพากษายืน

Share