แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กำหนดระยะเวลา 30 วัน ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ ที่ให้แจ้งความจำนงขอเช่าต่อนั้น ไม่ใช่อายุความอันจะยกมาตรา 183 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาปรับเพื่อขยายระยะเวลาออกไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมนางสาวหมิ่นหว่า แซ่ซุย เช่าเรือนของโจทก์มีกำหนด 10 ปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2497 จำเลยที่ 1, 2 อยู่ร่วมกับผู้เช่า วันที่ 17กันยายน 2500 นางสาวหมิ่นหว่าตาย สัญญาเช่าระงับไป จำเลยไม่ได้แจ้งแสดงความจำนงขอเช่าสืบแทนนางสาวหมิ่นหว่าไปยังโจทก์ภายใน 30 วัน โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกไปก็ไม่ออก ทำให้โจทก์เสียหาย และปรากฏว่านายหว่อ แซ่จี๊ บิดาของจำเลยที่ 2 ก็เข้าไปอาศัยอยู่ในเรือนพิพาทด้วย ขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ประการหนึ่งว่า จำเลยที่ 1, 2 อยู่กับนางหมิ่นหว่า เมื่อนางหมิ่นหว่าตายไปแล้ว จำเลยก็ได้อาศัยอยู่กับทายาทของนางหมิ่นหว่า และทายาทของนางหมิ่นหว่าได้แสดงความจำนงจะอยู่ในบ้านที่เช่าต่อไปภายในกำหนด 30 วัน นับแต่นางหมิ่นหว่าตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมขอถือเอาข้อต่อสู้นี้เป็นข้อต่อสู้ของตนด้วย
เมื่อสืบพยานไปบ้างแล้ว โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า1. นางหมิ่นหว่าได้เช่าบ้านหลังพิพาทจากโจทก์โดยจดทะเบียนการเช่า2. นางหมิ่นหว่าตายเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 3. เด็กหญิงสุจิตราทายาทของนางหมิ่นหว่า โดยนายเหล็งในฐานะผู้ปกครองตามคำสั่งศาลได้มีหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าต่อไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม2501 ฯลฯ 7. เด็กหญิงสุจิตราเป็นบุตรนางหมิ่นหว่า และอยู่ในบ้านหลังพิพาทกับนางหมิ่นหว่าตลอดมา ฯลฯ
เมื่อแถลงรับกันแล้ว โจทก์จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยข้อเดียวว่าหนังสือแจ้งความจำนงขอเช่าอยู่ต่อไปของเด็กหญิงสุจริตรานั้น เป็นการแสดงความจำนงขอเช่าที่ถูกต้องใช้ได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2489 ซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ ถ้าใช้ได้ให้ศาลยกฟ้อง ถ้าใช้ไม่ได้ ให้พิพากษาขับไล่และใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า กำหนดเวลาแจ้งความจำนงภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าตายตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันพ.ศ. 2489 มาตรา 17 นั้นจะขยายเวลาออกไปอีกไม่ได้ เพราะไม่ใช่อายุความ อีกประการหนึ่ง ผู้แจ้งความจำนงก็ไม่จำต้องเป็นทายาทของผู้เช่า และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยเพราะการแสดงความจำนงขอเช่าอยู่ต่อไปไม่ใช่เป็นการทำนิติกรรมสัญญาเช่า ที่นายเหล็งในฐานะผู้ปกครองเด็กหญิงสุจิตราทายาทของนางหมิ่นหว่าได้มีหนังสือแสดงความจำนงไปยังโจทก์เมื่อล่วงเลยเวลา 30 วันนับแต่วันที่นางหมิ่นหว่าตายนั้น จึงใช้ไม่ได้ และไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯ พิพากษาให้ขับไล่จำเลย และให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์ว่า การแสดงความจำนงขอเช่าเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งเด็กหญิงสุจิตราเป็นผู้เยาว์ จะแสดงความจำนงได้ทางเดียวโดยผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครองเท่านั้น และกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯ เป็นอายุความ ซึ่งกฎหมายได้ให้สิทธิแก่ผู้เยาว์ที่จะขยายออกไปได้อีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทำนองเดียวกับชั้นอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า กำหนดระยะเวลา 30 วัน ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2489 ที่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดในครอบครัวของผู้เช่าซึ่งอาศัยอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าขณะผู้เช่าตาย ต้องแจ้งความจำนงเป็นหนังสือไปยังผู้ให้เช่านั้นมิใช่อายุความ จะยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 มาปรับกับข้อกำหนดนี้ไม่ได้ เมื่อยกมาปรับไม่ได้แล้ว ปัญหาที่ว่า การแจ้งแสดงความจำนง ฯ เป็นนิติกรรมหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะถึงอย่างไรกรณีก็ไม่เข้ามาตรา 183 อยู่นั่นเอง เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าแจ้งความจำนงเมื่อพ้น 30 วันแล้ว ก็เป็นการไม่ถูกต้อง ถือไม่ได้ว่าผู้แจ้งความจำนงเป็นผู้เช่าสืบแทนต่อไป จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้
พิพากษายืน