แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 โจทก์ร่วมเป็นบิดาของผู้ตาย โจทก์ร่วมจึงเข้าจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5(2) เมื่อโจทก์ร่วมถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา ทายาทของโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ถึงแก่ความตายต่อไปตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. ทายาทของโจทก์ร่วมเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วม จึงเป็นการไม่ชอบและที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ส. ที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้นก็เป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน ปัญหาข้อนี้แม้คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องโดยมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นและคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณา นายสาน ศรีจำปา บิดาของนายธวัชชัย ศรีจำปาผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288)ต่อมาโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย นายเสน่ห์ ศรีจำปา ทายาทของโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุกตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 33 ปี4 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน ริบของกลาง
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก15 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 8 เดือนรวมจำคุก 10 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าการที่นายสาน บิดาของนายธวัชชัยผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย นายเสน่ห์ ทายาทของโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย และศาลชั้นต้นอนุญาตนั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นบิดาของผู้ตาย โจทก์ร่วมจึงเข้าจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5(2) ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณานายเสน่ห์ทายาทของโจทก์ร่วมหามีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ถึงแก่ความตายต่อไปตามความหมายของบทบัญญัติ มาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายเสน่ห์ ทายาทของโจทก์ร่วมเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วม จึงเป็นการไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายเสน่ห์ผู้เข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นซึ่งแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ก็เป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน ปัญหาข้อนี้แม้คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องโดยมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นและคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตาย กระสุนปืนถูกผู้ตาย 2 นัด เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
ปัญหาตามฎีกาจำเลยมีเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์สอดคล้องต้องกันกับวัตถุพยานในที่เกิดเหตุและตรงกับรอยบาดแผลของผู้ตายว่าจำเลยยิงผู้ตายขณะผู้ตายวิ่งหนี ที่จำเลยนำสืบว่า ยิงขณะผู้ตายกับพวกกำลังวิ่งเข้าทำร้ายจำเลยนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะขัดกับข้อเท็จจริงของวิถีกระสุนที่โต๊ะอาหาร กับที่นายแพทย์มาโนชตรวจพบร่องรอยตามร่างกายผู้ตาย ข้อต่อสู้จำเลยขัดเหตุผล ไร้น้ำหนักรับฟังไม่ได้ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน