คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/26 แสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่า หากเจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายระบุไว้ โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษา คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกรณีแรก คือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องรอให้คำพิพากษานั้นถึงที่สุดเพราะมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทุกรายเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 90/29 หากมีผู้โต้แย้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องสอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 90/32 โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้น หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่จึงมิใช่เพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คำพิพากษานั้นย่อมมีผลผูกพันลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ไปจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียโดยศาลที่มีศักดิ์สูงกว่าเจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมารับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
คดีที่ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางเรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นผู้ทำแผน และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยมีบริษัทสเตคอน แอดมินิสเทรเตอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผน ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ มูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้จำนวน25,230,774.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 21,188,006.34บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ทำแผน ตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/29 แล้วปรากฏว่ามีผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจำนวน 25,030,774.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 21,188,006.34 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง หรือนางสาวปัทมา หอรุ่งเรืองจำเลยร่วมในคดีแพ่งแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น

ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องคัดค้านและแก้ไขคำร้องคัดค้านว่า มูลหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นคดียังไม่ถึงที่สุดเพราะยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรอฟังผลของคดีให้ถึงที่สุดเสียก่อน อย่างไร ก็ตามมูลหนี้ที่ว่านี้เกิดสืบเนื่องจากสัญญาโอนขายสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินระหว่างคู่สัญญานั้นเอง จึงตกเป็นโมฆะเพราะคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญา ทั้งลูกหนี้ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวการโอน และการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจเงินทุนเพื่อจำหน่ายและการบริโภคด้วยการรับโอนโดยมีค่าตอบแทนอันต้องห้ามด้วยกฎหมาย นิติกรรมตกเป็นโมฆะ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งเดิมบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ได้ทำสัญญาโอนขายสิทธิเรียกร้องกับเจ้าหนี้ โดยมีข้อกำหนดในสัญญาว่าบริษัทดังกล่าวจะนำสิทธิและผลประโยชน์ที่มีอยู่ในหนี้อันเกิดจากการขายสินค้าเชื่อหรือการให้บริการแก่ลูกค้ามาขายให้เจ้าหนี้เป็นคราว ๆ ไป เมื่อเจ้าหนี้ตกลงรับซื้อหนี้จากบริษัท ก็ให้บรรดาสิทธิและผลประโยชน์ใด ๆ ในหนี้ที่บริษัทมีสิทธิได้รับจากลูกค้าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น หลังจากนั้นบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้นำสิทธิและผลประโยชน์ในหนี้อันเกิดจากการขายสินค้าให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทมาขายให้เจ้าหนี้รวม 5 รายการเป็นเงิน 20,088,006.34 บาท โดยเจ้าหนี้และบริษัทได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้ลูกหนี้ทราบแล้วซึ่งไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้โต้แย้งคัดค้าน การที่ลูกหนี้อ้างว่าได้ชำระหนี้ให้บริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องของบริษัทผู้โอนได้โอนไปยังเจ้าหนี้แล้ว ไม่ทำให้หนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ระงับสิ้นไป หากลูกหนี้ได้รับความเสียหายอย่างไร ก็ต้องว่ากล่าวเอากับบริษัทผู้โอน

ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดไต่สวน แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้าน

ลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้เพียงประการเดียวว่า เจ้าหนี้จะนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ยังไม่ถึงที่สุดมาขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/26 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน…” บทบัญญัติดังกล่าวแสดงโดยแจ้งชัดว่าหากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายได้ระบุไว้โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษาคดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกรณีแรกคือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องรอให้คำพิพากษานั้นถึงที่สุด เนื่องจากมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทุกราย เจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 90/29 หากมีผู้โต้แย้ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องสอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 90/32 โดยกฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้น หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อนเจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่จึงมิใช่เป็นเพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงประการเดียว แต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้มีผู้โต้แย้งมูลหนี้ดังกล่าวได้ ส่วนที่ลูกหนี้โต้แย้งว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ระบุว่าคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีผลผูกพันลูกหนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนนั้น เห็นว่า คำว่า มีผลผูกพันลูกหนี้หมายความว่า คำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ย่อมมีผลผูกพันลูกหนี้จนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียโดยศาลที่มีศักดิ์สูงกว่า เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผน ที่อาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้นซึ่งก็ได้โต้แย้งมาเป็นคดีนี้ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา และผู้บริหารแผนร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลาง ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาคำร้องคัดค้านคำคัดค้านของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้แล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยจึงให้งดไต่สวน ย่อมถือได้ว่าเป็นอำนาจของศาลล้มละลายกลางที่กระทำได้โดยชอบที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของผู้บริหารแผนนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลาง เรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง ลูกหนี้เสียค่าขึ้นศาลชั้นนี้มา 200 บาทเกินมา 175 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่ลูกหนี้”

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในชั้นนี้ที่เกินมา 175 บาทแก่ลูกหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้นอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ

Share