คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าบ้านที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าทำต่อกันระบุไว้ชัดแจ้งว่า ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าในวันสิ้นเดือนตามปฏิทินทุกๆ เดือนนั้น เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าเมื่อถึงวันสิ้นเดือนตามปฏิทิน ผู้เช่าก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระค่าเช่าแล้ว
การบอกกล่าวเลิกการเช่าซึ่งผู้ให้เช่าส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เจ้าหน้าที่ผู้ส่งบันทึกว่า “ผู้รับไม่ยอมรับ ขอคืน” นั้น ถือได้ว่าการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่ามีผลแล้วนับแต่เวลาที่ไปถึงผู้เช่าเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าบ้านจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 400 บาท ครบกำหนดแล้ว จำเลยอยู่ต่อไปโดยมิได้ทำสัญญาใหม่ จำเลยไม่ชำระค่าเช่า 2 คราวติด ๆ กัน โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยก็ไม่ยอมชำระให้ โจทก์จึงบอกเลิกการเช่า แต่จำเลยไม่ยอมรับหนังสือของโจทก์ จึงขอให้ขับไล่และชำระค่าเช่าและค่าเสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องพิพาท และให้ชำระค่าเช่าที่ค้าง 8,000 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ 400 บาทนับแต่วันฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเช่าที่โจทก์จำเลยทำต่อกันไว้นั้นระบุชัดอยู่แล้วว่า ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าในวันสิ้นเดือนตามปฏิทินทุก ๆ เดือน ฉะนั้น เมื่อถึงวันสิ้นเดือนตามปฏิทินจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ จำเลยก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระค่าเช่าแล้วโดยโจทก์มิจำต้องเตือนเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โดยเหตุนี้ เรื่องการทวงถามในการให้จำเลยชำระค่าเช่าศาลอุทธรณ์จึงกล่าวว่ามิจำต้องคำนึงถึง

ส่วนเรื่องการบอกเลิกสัญญาเช่าตามมาตรา 560 นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าการบอกเลิกตามเอกสารจ.4 โจทก์ได้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ปรากฏในบันทึกของเจ้าหน้าที่ว่า “ผู้รับไม่ยอมรับ ขอคืน” แสดงว่าพบผู้รับ คือจำเลยแล้วแต่จำเลยไม่ยอมรับ ฉะนั้น การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงถือว่าได้ถึงจำเลยแล้ว ซึ่งศาลฎีกาก็เห็นพ้องด้วย คดีจึงฟังได้ว่า การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาของโจทก์ได้ถึงจำเลยแล้ว ตามความหมายแห่งมาตรา 130 วรรค 1 ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยยังไม่ได้ทราบข้อความในจดหมายบอกเลิกสัญญานั้น เห็นว่า การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาของโจทก์โดยทางจดหมายนี้ ตามมาตรา 130 วรรค 1 ย่อมมีผลนับแต่เวลาที่ไปถึงจำเลยเป็นต้นไป จำเลยจะได้ทราบข้อความในจดหมายนั้นหรือไม่การบอกเลิกสัญญาก็ย่อมมีผลเป็นการบอกเลิกตามมาตรา 560 แล้ว

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย

Share