แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ข้อ 20 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2541) บัญญัติว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ… ต้องขายเงินตราระหว่างประเทศนั้นให้แก่ธนาคารรับอนุญาต หรือบริษัทรับอนุญาต หรือบุคคลรับอนุญาตที่ตั้งอยู่ในประเทศ…ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มาหรือนำเข้าแล้วแต่กรณี…” ซึ่งมีความหมายแต่เพียงว่าหากการได้เงินตราต่างประเทศแล้วมิได้มีการขายให้แก่ธนาคารหรือบุคคลผู้รับอนุญาตภายใน 7 วัน จึงจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกำหนดหน้าที่ปฏิบัติ หากฝ่าฝืนด้วยการงดเว้นไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจึงจะมีความผิด การที่จำเลยที่ 2 ได้รับเงินตราต่างประเทศแล้วทำการขายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้เงินตราต่างประเทศ จึงถือว่าได้มีการปฏิบัติครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีกรณีงดเว้นไม่กระทำการที่กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิด
ย่อยาว
เดิมคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 4309/2546 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 2 สำหรับคดีหมายเลขแดงที่ 4309/2546 คดีถึงที่สุดแล้ว คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 3, 4, 8, 8 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91 ริบของกลาง จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 4, 8 จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน มาตรา 4, 8 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศโดยมิได้ปฏิบัติตามความในข้อ 20 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ที่แก้ไขแล้ว หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินตราจากต่างประเทศแล้วจะนำออกนอกราชอาณาจักรและถูกตรวจค้นจับกุม จำเลยที่ 1 จึงได้แลกเงินตราดังกล่าวเป็นเงินไทย ด้วยการนำไปขายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้เงินตราต่างประเทศ เมื่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ข้อ 20 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2541) บัญญัติว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ…ต้องขายเงินตราต่างประเทศนั้นให้แก่ธนาคารรับอนุญาต หรือบริษัทอนุญาต หรือบุคคลรับอนุญาตที่ตั้งอยู่ในประเทศ…ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มาหรือนำเข้าแล้วแต่กรณี…” ซึ่งมีความหมายแต่เพียงว่าหากการได้เงินตราต่างประเทศแล้วมิได้มีการขายให้แก่ธนาคารหรือบุคคลผู้รับอนุญาตภายใน 7 วัน จึงจะมีความผิดตามกฎหมาย ความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติเช่นนี้เป็นการกำหนดหน้าที่ปฏิบัติ หากฝ่าฝืนด้วยการงดเว้นไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติที่กำหนดห้ามกระทำการใด หากลงมือกระทำย่อมถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การที่ผู้ที่มีหน้าที่ต้องกระทำการได้ลงมือกระทำการไปตามหน้าที่ที่ตนมีครบถ้วนแล้ว การกระทำอันเกิดจากการงดเว้นกระทำการจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ได้รับเงินตราต่างประเทศแล้วทำการขายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้เงินตราต่างประเทศ จึงถือว่าได้มีการปฏิบัติครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีกรณีงดเว้นไม่กระทำการที่กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิด
พิพากษายืน