คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1178/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับขณะโจทก์เข้าทำงานกำหนดให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เว้นแต่จะได้มีการต่ออายุนั้น เป็นเพียงบทกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นพนักงานของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา ดังนี้น เมื่อโจทก์ทำงานมาจนอายุครบหกสิยปีบริบูรณ์แล้วจำเลยได้มีคำสั่งต่ออายุการทำงานของโจทก์ออกไปอีก 1 ปี จึงเป็นเพียงขยายกำหนดเวลาการทำงานออกไป หาใช่ข้อตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ภายหลังจากโจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ไม่เพราะโจทก์มีสิทธิลาออกจากงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้าง สัญญาจ้างนี้จึงยังเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเช่นเดิม เมื่อจำเลยไม่ต่ออายุการทำงานของโจทก์อีกต่อไป จึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างอันจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีอายุครบ ๖๐ ปี จะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่จำเลยได้ต่ออายุการทำงานของโจทก์ออกไปอีก ๑ ปี แล้วจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากการทำงาน เพราะโจทก์ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกำหนดการสิ้นสุดของระยะเวลาทำงานไม่แน่นอน และไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มีอายุครบ ๖๐ ปี ได้มีการต่ออายุการทำงานต่อมาอีก ๑ ปี มีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน โจทก์ออกจากงานเมื่อครบกำหนดนั้น สัญญาจ้างในช่วงหลังจากที่โจทก์ครบกำหนดเกษียณอายุจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในการเข้าทำงานของโจทก์ไม่ปรากฏข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยว่า จำเลยจะจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาเท่าใดพระราชบัญญัติกำหนดเกษียณอายุผู้ทำงานในองค์การของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะนั้นมีความว่า โจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเว้นแต่จะได้มีการต่ออายุการทำงาน ก็เป็นเพียงบทกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นพนักงานในองค์การของรัฐ มิใช่บทกำหนดระยะเวลาของสัญญาจ้าง ซึ่งถือไม่ได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนที่โจทก์ทำงานมาจนอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขของกฎหมายข้างต้น จำเลยได้มีคำสั่งต่ออายุการทำงานของโจทก์ออกไปกำหนด ๑ ปี นั้น เป็นเพียงขยายกำหนดเวลาที่ต่ออายุการทำงานออกไป หาใช่ข้อตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ภายหลังจากโจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วไม่ ดังจะเห็นได้จากการนับเวลาการทำงานของโจทก์คงนับติดต่อกันมาโดยไม่ขาดสาย ทั้งภายในกำหนด ๑ ปีที่มีการต่ออายุการทำงานออกไป โจทก์ก็มีสิทธิลาออกจากงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้าง ดังนี้ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงยังเป็นสัญญาจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเช่นเดิม กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามความในข้อ ๔๖ ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ เมื่อจำเลยไมต่ออายุการทำงานของโจทก์หลังจากสิ้นสุดการต่ออายุการทำงานครั้งแรก โดยจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยโจท์มิได้กระทำความผิดตามข้อ ๔๗ ถือได้ว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้ ตามความในข้อ ๔๖ (๓) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์

Share