คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1178/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 จะให้ความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” ว่า “การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือ ลงชื่อ ห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ฯลฯ” ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” นั้น ก็เพื่อจะให้แสตมป์ที่ปิดทับเอกสารนั้นใช้ไม่ได้ต่อไปเท่านั้น มาตรา 103 จึงให้ความหมายไว้ในตอนแรกว่า เป็นการ กระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก ส่วนข้อความตอนต่อไปนั้นเป็นเพียงการอธิบายเพิ่มเติมวิธีกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้กระทำการใด ๆ ให้แสตมป์นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แม้จะมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อความที่อธิบายเพิ่มเติมไว้ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าตามความหมายของ มาตรา 103 ที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับคำว่า ขีดฆ่า นั้นแล้ว
การขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดบนเอกสารสัญญากู้ด้วยหมึกเพื่อมิให้อากรแสตมป์นั้นใช้ได้อีกต่อไป เป็นการขีดฆ่าที่ชอบแล้ว แม้จะมิได้ลง วัน เดือน ปี ที่ขีดฆ่าก็ถือว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญากู้เพราะดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยต้องรับผิดใช้ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินกู้ให้โจทก์ในระหว่างที่จำเลย ผิดนัดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 และเมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีได้ มีการผิดนัด จำเลยจึงต้องชดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปสองครั้ง และสัญญาให้ดอกเบี้ยร้อยละ3 และ 5 ต่อเดือนตามลำดับ ตามสัญญากู้ท้ายฟ้อง ตั้งแต่กู้ไปจำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เลย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 บาท 50 สตางค์ ต่อปี ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่วันกู้จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับนับเป็นโมฆะ หนังสือสัญญากู้ฉบับแรกได้ทำไว้จริง แต่เป็นหนังสือรับเงินมัดจำล่วงหน้าในการที่จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์ ส่วนสัญญากู้ฉบับหลังจำเลยไม่ได้กู้ ลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งตั้งแต่วันทำสัญญากู้ แต่โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และสัญญากู้ทั้งสองฉบับปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ต้นเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่าที่โจทก์ขอมา นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้ไว้จริง ลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นลายมือชื่อของจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญากู้ทั้งสองฉบับได้ปิดอากรแสตมป์และมีเพียงรอยหมึกขีดฆ่าเท่านั้น มิได้ลงวันที่ที่ขีดฆ่าด้วยไม่เป็นการขีดฆ่าที่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 103 จึงเป็นการปิดแสตมป์ไม่บริบูรณ์ จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 จะให้ความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า”ว่า “การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลง วัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ฯลฯ” ก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” นั้น ก็เพื่อจะให้แสตมป์ที่ปิดทับเอกสารนั้นใช้ไม่ได้ต่อไปเท่านั้น มาตรา 103 จึงให้ความหมายไว้ในตอนแรกว่าเป็นการกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้กระทำการใด ๆให้แสตมป์นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แม้จะมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อความที่อธิบายเพิ่มเติมไว้ ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าตามความหมายของมาตรา 103ที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับคำว่า ขีดฆ่า นั้นแล้ว การที่ได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดบนเอกสารสัญญากู้ด้วยหมึกเพื่อมิให้อากรแสตมป์นั้นใช้ได้อีกต่อไป จึงเป็นการขีดฆ่าที่ชอบแล้ว แม้จะมิได้ลง วัน เดือน ปี ที่ขีดฆ่า ก็ถือว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง และวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ด้วยว่า แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญากู้ เพราะดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตรานั้นเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อหนี้เงินกู้นี้เป็นหนี้เงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินกู้ให้โจทก์ในระหว่างที่จำเลยผิดนัด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 และเมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนวันฟ้องคดีได้มีการผิดนัด จำเลยจึงต้องชดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

พิพากษายืน

Share