แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.104 และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตราที่ฟ้อง แต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อ้าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขมาตราที่กล่าวมานั้นต่างกันเช่นนี้หาใช่เป็นการตัดสินนอกฟ้องไม่ เพราะบทบัญญัติของการแก้ไขแต่ละคราวก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของมาตราเดิมนั่นเอง
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาฐานกบถในและนอกพระราชอาณาจักรและเป็นอั้งยี่ จำเลยที่ ๑,๓ รับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันกระทำผิดฐานกบถภายในราชอาณาจักรมีความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๑๐๔ (๑) ซึ่งแก้ไขตาม พ.ร.บ.แก้ไข ก.ม.อาญา พ.ศ.๒๔๗๐ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๓ ปี ลดจำเลยที่ ๑,๓ ที่ให้การรับสารภาพกึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑ ปี ๖ เดือน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยให้ลงโทษนายชีจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๑๐๔ (๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.อาญา พ.ศ.๒๔๗๘ (ฉบับที่ ๗) ม.๔ (เพราะที่แก้ไขตาม พ.ร.บ.แก้ไข ก.ม.อาญา พ.ศ.๒๔๗๐ นั้นยกเลิกแล้ว)
นายชีจำเลยที่ ๒ ฎีกาต่อมา ว่าที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.อาญา แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นการนอกฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้โจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๑๐๔ และศาลล่างทั้งสองก็ได้ลงโทษจำเลยตามมาตรากับที่ฟ้อง การที่ศาลล่างอ้าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขมาตราที่กล่าวต่างกันมาหาใช่เป็นการตัดสินนอกฟ้องไม่ เพราะบทบัญญัติของการแก้ไขแต่ละคราวก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมาตรา ๑๐๔ เดิมนั่นเอง
พิพากษายืน