คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11765/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ได้กระทำความผิดเฉพาะข้อหาร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน (จำนวน 3 เม็ด) โดยในคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 9 พนักงานสอบสวนได้แจ้งต่อศาลชั้นต้นว่า คดีอยู่ในระหว่างรอผลการตรวจปัสสาวะของจำเลยทั้งสองเพื่อหาสารเสพติด ขณะนั้นจำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ครั้นต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2551 จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาเพิ่มเติมว่า เสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยทั้งสองจึงเพิ่งตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาเพิ่มเติมนี้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 การที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องในวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ขอให้ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงอยู่ภายในระยะเวลาของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ถือว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องขอส่งตัวจำเลยทั้งสองไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนก็ดำเนินการขออนุญาตฝากขังจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นตามเดิมแล้วสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นการปฏิบัติโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดโทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 3 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ที่บัญญัติว่า ” ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด …” เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการดำเนินการก่อนฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาล อันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์มาตรา 19 วรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดระยะเวลาของกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และแจ้งให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทราบ เพื่อดำเนินการคัดแยกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเหมือนผู้กระทำความผิดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งในคดีนี้ เดิมจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ต้องหาเฉพาะร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามคำร้องขออนุญาตฝากขังครั้งที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น โดยในคำร้องดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้แจ้งต่อศาลชั้นต้นด้วยว่า คดีอยู่ในระหว่างรอผลการตรวจปัสสาวะของจำเลยทั้งสองเพื่อหาสารเสพติดจากโรงพยาบาล หากพบสารเสพติดจะดำเนินการแก่จำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังครั้งที่ 1 และที่ 2 เรื่อยมา จนกระทั่งพนักงานสอบสวนทราบผลการตรวจปัสสาวะของจำเลยทั้งสองว่ามีสารเสพติด จึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ว่า จำเลยทั้งสองเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แล้วในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2551 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยทั้งสอง และยื่นคำร้องขอส่งตัวจำเลยทั้งสองไปที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัย เพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เนื่องจากจำเลยทั้งสองถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า กระทำความผิดในข้อหาเสพยาเสพติด พร้อมให้ศาลชั้นต้นแจ้งแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทราบ แต่ศาลชั้นต้นกลับยกคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขออนุญาตฝากขังครั้งที่ 3 และที่ 4 ต่อไปว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังตลอดมา จากนั้นโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เห็นว่า เดิมจำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ได้กระทำความผิดเฉพาะข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ขณะนั้นจำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาดังกล่าวเท่านั้น ครั้นต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2551 จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาเพิ่มเติมว่า เสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำเลยทั้งสองจึงเพิ่งตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาเพิ่มเติมนี้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 การที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องในวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ขอให้ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงอยู่ภายในระยะเวลาของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ถือว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องขอส่งตัวจำเลยทั้งสองไปศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัย พนักงานสอบสวนก็ดำเนินการขออนุญาตฝากขังจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นตามเดิมแล้วสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นการปฏิบัติโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดยกฟ้องโจทก์ มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษไว้ แต่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดยกฟ้องโจทก์ จึงยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง และศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกา เพื่อไม่ให้คดีล่าช้าออกไปอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาใหม่ เห็นว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองของพนักงานคุมประพฤติที่จำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเสพยาเสพติดตลอดมา จนกระทั่งร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดในแหล่งชุมนุมชน สร้างความเสียหายและเดือนร้อนแก่สังคมโดยรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำเลยทั้งสองนั้นชอบแล้ว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share