แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้พัศดีทำกระเบื้องในเรือนจำโดยใช้แรงงานนักโทษ แต่พัศดีต้องยืมเงินผู้อื่นมาลงทุนทำเป็นส่วนตัว เป็นการที่พัศดีทำเป็นส่วนตัวไม่ใช่เป็นการงานของเรือนจำ พัศดีเอารายได้จากการขายกระเบื้องไว้เป็นส่วนตัว ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2493 จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2494 เวลากลางวัน จำเลยเป็นข้าราชการประจำตำแหน่งพัศดีเรือนจำจังหวัดสตูล ซึ่งมีหน้าที่รักษาทรัพย์สินของเรือนจำ จังหวัดสตูล จำเลยได้ใช้แรงงานผู้ต้องขัง ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยจัดพิมพ์กระเบื้องซีเมนต์ขายให้ประชาชนกระเบื้องจำนวน 75,000 แผ่น ขายได้เงิน 29,125 บาทจำเลยรับเงินค่าขายกระเบื้องแล้วไม่นำส่งเข้าบัญชีผลประโยชน์ของเรือนจำตามระเบียบ กลับทุจริตยักยอกเอาเป็นประโยชน์ตนเสียจึงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131, 132, 133 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 กับให้จำเลยใช้เงิน 29,125 บาท และนับโทษต่อจากสำนวนอาญาของศาลจังหวัดสตูลเลขดำที่ 12/2495
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้ว ฟังว่าระเบียบเรือนจำใช้แรงผู้ต้องขังผลิตกระเบื้องขึ้นจำหน่าย ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับทำกระเบื้องต้องลงบัญชีตามกฎกระทรวงมหาดไทยบังคับว่าต้องเป็นของรัฐบาล การทำกระเบื้องถือว่าเป็นงานของเรือนจำ เงินที่ขายเป็นกำไรมาต้องถือว่าเป็นผลประโยชน์ของเรือนจำ ปรากฏว่าจำเลยยืมเงินจังหวัดมาลงทุน3,000 บาทแต่ได้ส่งใช้คืนแล้ว และจำเลยขายกระเบื้องได้เป็นเงิน29,125 บาท เป็นเงินผลประโยชน์ของเรือนจำจังหวัดสตูลทั้งหมดเมื่อจำเลยไม่นำส่งเงินจำนวนนี้เข้าบัญชีเป็นเงินผลประโยชน์ของเรือนจำตามระเบียบ จำเลยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะเอาเงินจำนวนนี้ไป ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาทุจริตของจำเลย จำเลยต้องมีผิดฐานยักยอกตามโจทก์ฟ้องจึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2484 มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลย 4 ปี กับให้จำเลยใช้เงิน 29,125 บาท แก่เรือนจำจังหวัดสตูลและนับโทษต่อจากคดีอาญาดำที่ 12/2495 แดงที่ 104/2495 ของศาลจังหวัดนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีแล้วเห็นว่า เงินที่จำเลยขายกระเบื้องได้เพียง 3,525 บาท นอกนั้นเป็นกระเบื้องที่จำเลยส่งให้แก่นายอาสุยและนายอาบุ๋นแทนเงินที่จำเลยยืมมา ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยขายได้เงินมาจำนวนเงิน 3,525 บาทที่จำเลยขายกระเบื้องได้นี้ ถ้าจะหักกับเงินที่จำเลยเอาไปส่งใช้จังหวัดเสีย 3,000 บาท และให้รางวัลแก่นักโทษผู้ทำกระเบื้องเป็นเงิน 788 บาท ย่อมเห็นได้ว่า เงินที่ขายกระเบื้องหามีเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อไม่มีเงินที่ขายกระเบื้องเหลือ จะฟังว่าจำเลยยักยอกไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจะให้ยักยอก ทั้งได้ความว่าการทำกระเบื้องที่กล่าวนี้ ทำเป็นขั้นทดลองในส่วนตัวของจำเลย จำเลยจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ไม่เกี่ยวกับโครงการของเรือนจำ ไม่ควรชี้ว่าจำเลยยักยอกเงินของเรือนจำ จึงพิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยไป
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยดังศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว โจทก์หาว่าจำเลยยักยอกเงินค่าขายกระเบื้องของเรือนจำจังหวัดสตูล ฝ่ายจำเลยปฏิเสธ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบในเบื้องต้นว่า เป็นกระเบื้องของเรือนจำจังหวัดสตูล
ทางพิจารณาได้ความว่า การทำกระเบื้องซีเมนต์ที่กล่าวนี้จำเลยได้บอกกล่าวแก่ผู้บัญชาการเรือนจำ แต่ทางราชการมิได้รับรองเข้าเป็นโครงการของกรมราชทัณฑ์ ได้ตกลงให้จำเลยทำเป็นขั้นทดลองส่วนตัวของจำเลย กรมราชทัณฑ์มิได้ออกทุนให้แต่อย่างใด เป็นการนอกโครงการของกรมราชทัณฑ์ จำเลยยืมเงินผู้อื่นเป็นส่วนตัวมาลงทุนเมื่อจำหน่ายกระเบื้องได้ก็เอาเงินไปใช้คืนให้ในกิจการรายนี้จะเรียกว่าเป็นการงานของเรือนจำไม่ได้ จะเห็นได้ชัดว่า ถ้าหากจำเลยไปกู้ยืมเงินของคนอื่นมามาก ๆ เจ้าหนี้จะขอให้เรือนจำรับผิด ใช้หนี้แทนจำเลยเรือนจำคงไม่ยอมรับใช้ เพราะความจริงเป็นทำทดลองส่วนตัวของจำเลยทำขึ้นเป็นพิเศษ จะเอาระเบียบธรรมดาของเรือนจำที่ว่าของที่ผลิตขึ้นในเรือนจำให้ถือว่าเป็นของ ๆ เรือนจำนำมาใช้ในกรณีหาได้ไม่ จะยกเอาระเบียบข้อบังคับมาใช้แทนกฎหมายไม่ได้ ทั้งความประสงค์ของระเบียบข้อบังคับนั้นก็น่าจะมิได้มุ่งหมายถึงกรณีเช่นในคดีนี้ ซึ่งเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า จำเลยทำเป็นกิจส่วนตัวเงินที่ขายได้ก็ย่อมเป็นของจำเลย ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปส่วนการใช้แรงนักโทษนั้น เป็นเรื่องอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระเบียบวินัยและการปกครอง แต่เมื่อได้ความว่า ผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ทำเป็นการทดลอง เพื่อประโยชน์แก่ความรู้ อันจะเป็นคุณต่อไปภายหน้าก็ยังไม่เห็นว่า เป็นการผิดร้ายอย่างใด
เห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
จึงพิพากษายืนตาม ให้ยกฎีกาของโจทก์