แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิแห่งสภาพบุคคลหมายถึงสิทธิดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลแพ่ง ฯ บรรพ 1 ลักษณะ 2 ซึ่งในส่วนที่ 1 ก็ใช้คำว่า “สภาพบุคคล” เช่นเดียวกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนสังฆนายก โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 บังคับให้สึกจากพระภิกษุ และเมื่อสึกแล้วจำเลยที่ 2 ได้สั่งห้ามมิให้โจทก์อุปสมบทการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ ดังนี้ ไม่ใช่เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิตามสภาพบุคคล โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้
สำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะบอกให้โจทก์สึก แต่โจทก์ก็ยอมสึกเอง จะว่าจำเลยที่ 1 ลงทัณฑกรรมแก่โจทก์ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ห้ามไม่ให้อุปัชฌาย์อุปสมบทให้โจทก์นั้น ไม่มีกฎหมายบังคับว่า ถ้าโจทก์จะบวชคณะสงฆ์จะต้องยอมให้บวช หรืออุปัชฌาย์จะต้องบวชให้ ฉะนั้นจึงเป็นสิทธิของคณะสงฆ์และผู้เป็นอุปัชฌาย์ที่จะยอมรับให้บวชหรือจะบวชให้หรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นละเมิดตามมาตรา 420 และทั้งไม่เข้าตามมาตรา 421, 422 ด้วย
อนึ่งจะว่าคำสั่งจำเลยที่ 2 เป็นการเพิ่มทัณฑกรรมอันขัดต่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 มาตรา 23 และประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์มาตรา 107 ก็ไม่ได้ เพราะประการแรกคำแนะนำของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการลงทัณฑกรรมดังกล่าว คำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการเพิ่มทัณฑกรรมไม่ได้ ประการที่ 2 มาตรา 23 และมาตรา 107 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติสำหรับสงฆ์เมื่อโจทก์ได้สึกจากสมณะเพศแล้วคำสั่งของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เป็นการลงทัณฑ์กรรมตามกฎหมายนั้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์บวชเป็นพระภิกษุ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รักษาการแทนสังฆนายก โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ บังคับให้สึกจากพระภิกษุ และเมื่อสึกแล้วจำเลยที่ ๒ ได้สั่งห้าม ไม่ให้โจทก์อุปสมบท การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการตัดสิทธิและละเมิดสิทธิ จึงขอให้ศาลแสดงว่าการกระทำและคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพิกถอนประกาศห้ามไม่ให้รับอุปสมบทและประกาศคำพิพากษาในแถลงการณ์คณะสงฆ์ กับเรียกค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ประพฤติคลุกคลีกับมาตุตามจนเป็นที่น่ารังเกียจและไม่เป็ฯที่น่าไว้ใจต่อความบริสุทธิแห่งความเป็นสมณะ ทั้งได้ละเมิดระเบียบประเพณีของคณะสงฆ์ และขัดคำสั่งของจำเลย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยพร้อมด้วยคณะสงฆ์ในจังหวัดสุพรรณบุรีประชุมพิจารณาลงมติเป็นเอกฉันท์ให้โจทก์ลาจากสมณะเพศ โจทก์ได้ยินยอมและสึกไปแล้ว จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การที่จำเลยสั่งห้ามอุปัชฌาย์มิให้รับอุปสมบทโจทก์ ก็โดยจำเลยได้รับรายงานและด้วยความเห็นชอบของสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ทั้งจำเลยก็ได้พิจารณาเห็นเป็นการสมควร
จำเลยทั้งสองให้การต้องกันว่า กรณีของโจทก์ที่ต้องสึกและต้องสั่งห้ามไม่ให้อุปสมบทนี้ ไม่ใช่อธิกรณ์ตามกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องทำโดยคณะวินัยธร แต่เป็นกรณีความผิดฉะเพาะหน้าผู้บังคับบัญชา ย่อมปฏิบัติจัดทำได้ตามพระธรรมวินัย และขนบประเพณีของคณะสงฆ์
ศาลแพ่งพิพากษาว่า การที่จำเลยที่ ๑ กระทำไปตามมติที่ประชุม และโจทก์ก็ได้ยินยอมปฏิบัติตาม จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะกลับมารื้อร้องจำเลยที่ ๑ สำหรับคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์ จึงไม่ต้องผ่านคณะวินัยธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล โจทก์ไม่ได้กระทำผิดดังจำเลยที่ ๑ ชี้ขาด จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจลงทัณฑกรรมให้สึก โจทก์ไม่ได้สึกโดยสมัครใจ แต่สึกเพราะถูกบังคับ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา ๒๓ ก็ดี ตามประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์มาตรา ๑๐๗ ก็ดี ได้กำหนดทัณพกรรมไว้สูงสุด คือให้สึกและห้ามอุปสมบท สถานที่ ๒ ก็คือให้สึก ถ้าจะลงสถานที่ ๑ ต้องพร้อมกัน จำเลยที่ ๑ จึงลงทัณฑ์กรรมสถานที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๒ กลับสั่งเพิ่มห้ามไม่ให้อุปสมบทโดยไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้อำนาจแก่จำเลยไว้ และแม้ประกาศนั้นเพียงแต่ห้ามอุปัชฌาย์มิให้รับอุปสมบท ไม่ใช่ห้ามอุปสมบทโดยตรงก็ตาม ก็มีผลเป็นการตัดสิทธิของโจทก์อยู่นั่นเอง เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จะฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่โจทก์อ้างว่าเป็นคีดเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล ต้องด้วยข้อยกเว้น คำว่า สิทธิแห่งสภาพบุคคลนี้ไม่ได้หมายถึงสิทธิที่บุคคลมีอยู่โดยที่มีสภาพเป็นบุคคล มิฉะนั้น สิทธิอะไรก็เป็นสิทธิแห่งสภาพบุคคลทั้งนั้น เพราะบุคคลเท่านั้นจะเป็นเจ้าของสิทธิได้ สิทธิจึงเป็นเรื่องของบุคคลโดยฉะเพาะ คดีทุกเรื่องจะเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลทั้งหมด ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบัญญัติมาตรา ๒๔๘ และตั้งข้อยกเว้นไว้ให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล อีกประการหนึ่ง มาตรา ๒๔๘ ใช้คำว่า คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล และสิทธิในครอบครัว ถ้าแปลว่าสิทธิแห่งสภาพบุคคลเป็นสิทธิทุกอย่างที่บุคคลมีอยู่ เพราะเป็นบุคคลแล้ว ก็รวมถึงสิทธิในครอบครัวด้วยอยู่ในตัว ไม่จำต้องบัญญัติแยก ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิแห่งสภาพบุคคลในที่นี้ หมายถึงสิทธิดังเช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.ม.แพ่งฯ บรรพ ๑ ลักษณะ ๒ ซึ่งในส่วนที่ ๑ ใช้คำว่า “สภาพบุคคล” เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล
สำหรับจำเลยที่ ๑ นั้น แม้จำเลยที่ ๑ จะบอกให้โจทก์สึก แต่โจทก์ก็ยอมสึกเอง ฉะนั้นจะว่าจำเลยที่ ๑ ลงทัณฑกรรมแก่โจทก์ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๒ โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ละเมิดสิทธิโจทก์ในการที่ห้ามไม่ให้อุปัชฌาย์อุปสมบทให้โจทก์ ปัญหาจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิจะให้อุปัชฌาย์บวช ซึ่งจำเลยจะขัดขวางไม่ได้หรือไม่นั้น ตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีสิทธิจะบวชได้ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ถ้าโจทก์หรือใครจะบวชแล้ว คณะสงฆ์จะต้องยอมให้บวชหรืออุปัชฌาย์จะต้องบวชให้ คณะสงฆ์ก็ดี อุปัชฌาย์ก็ดี จะยอมให้ผู้นั้นบวช หรือจะบวชให้หรือไม่ เป็นสิทธิของคณะสงฆ์ หรือผู้เป็นอุปัชฌาย์ ที่จะเป็นละเมิดจะต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย (ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๔๒๐) การที่คณะสงฆ์ไม่ยอมให้บวช อุปัชฌาย์ไม่บวชให้ก็ดี เป็นการกระทำภายในสิทธิที่มีอยู่ และไม่เป็นการใช้สิทธิชะนิดที่ “มีแต่จะเกิดการเสียหายแก่บุคคลอื่น” ตาม ป.ม.แพ่ง มาตรา ๔๒๑ และไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายใดตามความในมาตรา ๔๒๒ คณะสงฆ์ไม่ยอมให้บวชหรืออุปัชฌาย์ไม่ยอมบวชให้โจทก์ ก็ถือว่าการไม่ยอมให้บวชหรือการไม่บวชให้นั้นเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ไม่ได้ และเมื่อการนั้นไม่เป็นการละเมิดแล้ว จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้สั่ง ก็ไม่ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ จะว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๒ เป็นการเพิ่มทัณฑ์กรรมอันขัดต่อเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๒๓ และประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์มาตรา ๑๐๗ จึงใช้ไม่ได้ดังโจทก์ว่าก็ไม่ได้ เพราะประการแรกคำแนะนำของจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เป็นการลงทัณฑกรรมดังกล่าวแล้ว คำสั่งของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นการเพิ่มทัณฑกรรมไม่ได้ ประการที่ ๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๑๐๗ ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติสำหรับสงฆ์ จำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งไม่ให้อุปสมบทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ได้สึกจากสมณะเพศแล้ว จึงไม่ใช่เป็นการลงทัณฑกรรมตามกฎหมายนั้น.
พิพากษายืน.