คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11712/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน
แม้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณารวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกนางสาวนงคราญ เด็กหญิงมนัญญา และเด็กหญิงธีรนาฎ ผู้คัดค้านในคดีทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด ผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 4
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องสำนวนแรกเป็นใจความว่า ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้ง 37 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำคัดค้านทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านในสำนวนหลังว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดเฉพาะเงินเบี้ยประกันภัยส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 4 ได้รับชำระแล้วตกเป็นของแผ่นดิน ให้คืนเงินค่าสินไหมทดแทนและสิทธิประโยชน์ คือมูลค่าเวนคืนหรือเงินฝาก (เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์) ตามสัญญาประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงินจำนวน 267,005.54 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1154 กรุงเทพมหานคร เงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสมุทรปราการ บัญชีเลขที่ 360 – 1 – 00422 – 3 จำนวน 16,133.70 บาท บัญชีเลขที่ 360 – 2 – 03367 – 7 จำนวน 19.14 บาท และบัญชีเลขที่ 360 – 2 – 11416 – 2 จำนวน 568,310.29 บาท สาขาสมุทรปราการ บัญชีเลขที่ 224 – 2 – 60151 – 6 จำนวน 463,803.62 บาท และสาขาย่อยถนนศรีนครินทร์ ก.ม. 17 บัญชีเลขที่ 421 – 2 – 21404 – 9 จำนวน 356,323.21 บาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยศรีนครินทร์ บัญชีเลขที่ 313 – 1 – 07041 – 8 จำนวน 529,604.69 บาท และสาขาสมุทรปราการ บัญชีเลขที่ 100 – 0 – 02078 – 5 จำนวน 2,405.01 บาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรปราการ บัญชีเลขที่ 315 – 2 – 31707 – 6 จำนวน 11,877.56 บาท และบัญชีเลขที่ 315 – 2 – 32657 – 0 จำนวน 2,811.56 บาท ห้องชุดเลขที่ 2130/26 ชั้น 2 อาคาร 1 อาคารชุดบ้านเทพารักษ์ 3 ตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 243461 ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 24928 และ 24929 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งใต้) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ถ้ามี) ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 79143 ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ถ้ามี) ติดภาระจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000,000 บาท ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 22890 ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ถ้ามี) ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6433, 24408, 24409 และ 24410 ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ถ้ามี) เงินเบี้ยประกันภัยที่บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. จำกัด (มหาชน) ได้รับชำระตามสัญญาประกันชีวิตกรมธรรม์เลขที่ บี.102194275 จำนวน 508,400 บาท เงินจำนวน 182,854.39 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภศ 279 กรุงเทพมหานคร เงินสด 25,800 บาท นาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์ 1 เรือน ราคา 150,000 บาท สร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น ราคา 19,400 บาท แหวนทองคำ 2 วง ราคาวงละ 12,000 บาท เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้คัดค้านที่ 4 ได้รับชำระตามสัญญาประกันชีวิตกรมธรรม์เลขที่ 0302708 จำนวน 67,383 บาท เลขที่ 0254396 จำนวน 297,560 บาท เลขที่ 0270590 จำนวน 297,800 บาท เลขที่ 0302740 จำนวน 57,957 บาท เลขที่ 0195767 จำนวน 115,363 บาท เลขที่ 0196375 จำนวน 122,143 บาท เลขที่ 0196376 จำนวน 118,013 บาท เลขที่ 0196377 จำนวน 106,993 บาท เลขที่ 0196378 จำนวน 123,450 บาท และเลขที่ 0302709 จำนวน 36,944 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินอื่นให้คืนแก่เจ้าของ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินที่ได้จากการขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1154 กรุงเทพมหานคร จำนวน 532,999.56 บาท (ที่ถูก 532,994.56 บาท) ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า นายมานะกับผู้คัดค้านที่ 1 เคยเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 91773 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนางสาวศิริกัลญา นายมานะเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เงินเบี้ยประกันภัยที่นายมานะและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาประกันชีวิตในบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 21 และชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 ตามสัญญาประกันชีวิตในบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงที่ 16 เป็นเงินที่นายมานะได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวข้างต้น แต่บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. จำกัด (มหาชน) และผู้คัดค้านที่ 4 รับชำระไว้โดยสุจริต สัญญาประกันชีวิตตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 7 คือ สัญญาประกันชีวิตกรมธรรม์เลขที่ 0302708 ระบุว่า ผู้คัดค้านที่ 4 มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเมื่อนายมานะเสียชีวิต 500,000 บาท หากเป็นกรณีเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมจะจ่ายเพิ่มอีก 500,000 บาท เว้นแต่ถูกฆาตกรรมเนื่องจากการก่ออาชญากรรมหรือเกิดจากการทะเลาะวิวาท ปรากฏว่านายมานะเสียชีวิตเพราะถูกยิง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 91773 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายมานะหรือไม่ เห็นว่า ข้อสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสามหรือวรรคสอง (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานได้ทรัพย์สินมาในขณะผู้กระทำความผิดมูลฐานเริ่มมีพฤติกรรมเช่นว่านั้นแล้ว ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความก่อนว่าทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นเป็นทรัพย์ที่ผู้กระทำความผิดมูลฐานได้มาในขณะผู้กระทำความผิดมูลฐานเริ่มมีพฤติกรรมเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือหลังจากผู้กระทำความผิดมูลฐานได้กระทำความผิดมูลฐานแล้วจึงจะเข้าข้อสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสามหรือวรรคสอง (เดิม) ว่า บรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต สำหรับกรณีที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 91773 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อจากนางสาวศิริกัลญา แม้ผู้ร้องนำสืบทำนองว่า นายมานะมีพฤติกรรมเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่ก่อนปี 2542 แต่ก็ไม่ได้ความแน่ชัดว่าอยู่ก่อนเวลานั้นนานเท่าใด จึงยังฟังไม่ได้ว่านายมานะมีพฤติกรรมดังกล่าวก่อนหรือในวันที่ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กรณีจึงไม่อาจใช้ข้อสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสามหรือวรรคสอง (เดิม) แก่ทรัพย์สินรายการนี้ได้ พยานหลักฐานเท่าที่ผู้ร้องนำสืบยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 91773 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายมานะ ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันชีวิต ตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 21 และตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 7 ที่ 11 ถึงที่ 16 และสิทธิประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิต คือเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 8 ถึงที่ 10 ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เพียงใด โดยผู้ร้องฎีกาว่า การนำเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดชำระเบี้ยประกันชีวิตถือเป็นการจำหน่าย จ่าย โอน ซึ่งเงินดังกล่าว ดังนั้น เงินค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งสิทธิประโยชน์จึงเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ซึ่งเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำความผิดมูลฐาน จึงตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนผู้คัดค้านที่ 4 แก้ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 4 แสดงเจตนารับประกันชีวิตของนายมานะโดยสำคัญผิดว่า เงินเบี้ยประกันภัยที่ได้รับชำระเป็นทรัพย์สินที่นายมานะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงที่ 16 จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งสิทธิประโยชน์ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้หากผู้คัดค้านที่ 4 ทราบว่า นายมานะมีรายได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา การที่นายมานะละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงในเรื่องอาชีพและรายได้จึงทำให้สัญญาประกันชีวิตทั้ง 10 กรมธรรม์ดังกล่าวเป็นโมฆียะ ผู้คัดค้านที่ 4 ใช้สิทธิบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง เห็นสมควรวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 4 เสียก่อน เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 บัญญัติว่า ในสัญญาประกันชีวิต การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ดังนั้น สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมในสัญญาประกันชีวิต คือ ความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคล ส่วนเงินเบี้ยประกันภัยเป็นเงินซึ่งผู้เอาประกันภัยตกลงจะส่งให้แก่ผู้รับประกันภัยภายหลังเมื่อคู่สัญญาได้ทำสัญญาประกันชีวิตกันขึ้นแล้ว มิใช่เป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาในเวลาที่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันก่อให้เกิดเป็นสัญญา และมีผลให้การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในการทำนิติกรรมเป็นโมฆะดังเช่นความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แม้เงินเบี้ยประกันชีวิตที่นายมานะผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐานก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจากนายมานะมาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับนายมานะเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงที่ 16 จึงไม่เป็นโมฆะ ในทำนองเดียวกันสัญญาประกันชีวิตตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 21 ก็ไม่ตกเป็นโมฆะเช่นกัน ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 4 แก้ฎีกาว่า สัญญาประกันชีวิตทั้ง 10 กรมธรรม์ดังกล่าวเป็นโมฆียะ ซึ่งผู้คัดค้านที่ 4 ใช้สิทธิบอกล้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง ผู้คัดค้านที่ 4 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำคัดค้าน แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาตามฎีกาของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. จำกัด (มหาชน) และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่นายมานะได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินดังกล่าวไปชำระให้แก่บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. จำกัด (มหาชน) และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด ดังนั้น เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 4 มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น
อนึ่ง แม้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของบริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. จำกัด (มหาชน) เลขที่ บี.102194275 จำนวน 1,000,000 บาท ตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 21 และเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของผู้คัดค้านที่ 4 เลขที่ 0302708 จำนวน 1,000,000 บาท เลขที่ 0195767 จำนวน 500,000 บาท เลขที่ 0196375 จำนวน 500,000 บาท เลขที่ 0196376 จำนวน 500,000 บาท เลขที่ 0196377 จำนวน 500,000 บาท เลขที่ 0196378 จำนวน 500,000 บาท และเลขที่ 0302709 จำนวน 300,000 บาท รวมทั้งเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของผู้คัดค้านที่ 4 เลขที่ 0254396 จำนวน 151,009 บาท เลขที่ 0270590 จำนวน 148,521 บาท และเลขที่ 0302740 จำนวน 6,000 บาท ตามบัญชีทรัพย์สินรายการที่ 7 ถึงที่ 16 ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share