แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคำขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 มีตรายางประทับข้อความว่าถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุกๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว โดยทนายผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายข้อความดังกล่าว จึงต้องถือว่าผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว การที่ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อล่วงเลยระยะเวลาฎีกาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นฎีกาภายหลังสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาโดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย เป็นการไม่ชอบฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้งหมดตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้อง พร้อมดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 8 ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 6 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ในคำขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ดังกล่าวมีตรายางประทับข้อความว่าถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วโดยทนายผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8ได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายข้อความดังกล่าว จึงต้องถือว่าผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว และข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 หาใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่อาจยื่นฎีกาได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ขยายให้ฎีกาแต่อย่างใดไม่ แต่ทนายผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ก็หาได้ตรวจสอบวันที่มีสิทธิยื่นฎีกาให้แน่นอนเสียก่อนไม่ อันเป็นความบกพร่องของทนายผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 เอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นฎีกาภายหลังสิ้นระยะเวลายื่นฎีกา โดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6ถึงที่ 8 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมานั้นเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดอายุฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาคณะคดีปกครองมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นฎีกาและให้ยกฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ