คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ป.เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์หนึ่งส่วนที่เหลือให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันให้แก่ผู้ใช้นามสกุล “ส.ตันสกุล”ตามที่เห็นสมควร ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกแล้วจ. โอนทรัพย์มรดกเป็นของตน โดยมิได้จัดการโอนทรัพย์มรดกส่วนที่เหลือดังกล่าวให้โจทก์ซึ่งใช้นามสกุล ส.ตันสกุล นั้นแสดงว่าจ.ไม่เห็นสมควรที่จะแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนที่เหลือดังกล่าวให้โจทก์อันเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. มิได้เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ไม่มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ป. ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายประสานส.ตันสกุล เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดาโจทก์ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่158 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายประสานราคาประมาณ100,000,000 บาท โดยโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของจำนวน 1.071 ส่วนคิดเป็นเงินประมาณ 14,000,000 บาท ให้แก่บริษัทโรงแรม88 จำกัดแล้วยักยอกเอาเงินทั้งหมดที่ขายได้เป็นของตนเองแต่ผู้เดียวทำให้โจทก์และทายาทอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นลงชื่อรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า นายประสาน ส.ตันสกุล ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์1 ส่วน ที่เหลือให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันให้แก่ผู้ใช้นามสกุล”ส.ตันสกุล” ตามที่เห็นสมควร ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนางจรรยา ส.ตันสกุล เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 และวันที่ 28 มกราคม 2518นางจรรยาได้โอนทรัพย์มรดกเป็นของตนและถึงแก่กรรมในปี 2533การที่นางจรรยามิได้จัดการโอนทรัพย์มรดกให้โจทก์ในระหว่างที่เป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่านางจรรยาไม่เห็นเป็นการสมควรที่จะแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในพินัยกรรม และจำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายประสานไม่มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกของนายประสานให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share