คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่รถยนต์จำเลยแล่นเข้าไปชนรถยนต์โจทก์ทางด้านขวาของถนน เบื้องต้นศาลสันนิษฐานตามกฎหมายว่ารถยนต์จำเลยเป็นผู้ผิด จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างว่าจำเลยมิใช่เป็นผู้ผิด เมื่อนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลย นายจ้างจึงต้องมีหน้าที่นำสืบหักล้างถ้านำสืบหักล้างไม่ได้ ก็ไม่จำต้องอาศัยคำพยานโจทก์มาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดอีก การที่จำเลยแล่นรถทางขวาของถนนเพื่อจะหลีกขึ้นหน้าโดยคาดหรือเดาเอาว่ารถโจทก์จะเลี้ยวทางซ้ายนั้น เป็นการเสี่ยงภัยของตนเอง มิใช่หลบหลีกให้พ้นอันตราย จึงไม่อาจลบล้างข้อสันนิษฐานที่ว่ารถจำเลยเป็นผู้ผิดได้ การที่จำเลยเสี่ยงภัยเช่นนี้ และเหตุที่รถชนกันก็เพราะรถจำเลยแล่นผิดทาง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิด
จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าหมวดขนส่ง มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายรถ ซ่อมรถของโรงงานซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้าง การที่จำเลยที่ 1 เอารถไปลองเครื่องจึงเป็นการกระทำในกิจการงานของโรงงาน เป็นทางการที่จ้าง
การทำงานในวันหยุดหรือทำงานนอกเวลาทำงานตามปกติ หากงานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง ก็คงเป็นการงานในทางการที่จ้างนั่นเอง หาได้กลายเป็นงานส่วนตัวของผู้ทำไม่
การที่นายจ้างจ้างลูกจ้างทำงานให้ตน หากลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบ แต่ยังปฏิบัติงานของนายจ้างอยู่ นายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในมาต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิด
การก่อเจดีย์บรรจุอัฐิผู้ตายไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่จะให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443
ตามกฎหมาย บิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเมื่อบุตรมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายก็ชอบที่จะเรียกได้จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ หากเป็นที่เห็นได้ว่าบิดาจะมีชีวิตอยู่อุปการะได้ถึงเวลานั้น
ค่าสินไหมทดแทนเป็นหนี้ที่ต้องชดใช้เป็นเงิน จึงเป็นหนี้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดลูกหนี้จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งดอกเบี้ยด้วย เว้นแต่ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังเช่น ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลูกหนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ต้องรับผิดชดใช้เป็นต้นไป ส่วนค่าสินไหมในการที่โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะนั้น เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษา และต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันศาลพิพากษาเป็นต้นไป ถ้าจำนวนเงินตรงกันตั้งแต่ศาลชั้นใด ก็คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันศาลล่างพิพากษา

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ยี่ห้อปอนเตี๊ยกซึ่งเป็นรถของบริษัทจำเลยที่ 2 ไปลองเครื่องตามหน้าที่และตามทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถจำเลยที่ 1 ชนรถจิ๊ปที่พันเอกสาธกพลภักดิ์ ขับ เรืออากาศเอกชำนาญสามีโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์และบุตรโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จึงขอให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายในการปลงศพสามีโจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลตัวโจทก์และบุตรเป็นเงิน 5,000 บาท และขอค่าสินไหมทดแทนในการขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 300,000 บาท

สำนวนหลังกองทัพบกฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รถยนต์ปอนเตี๊ยกในทางการที่จ้างชนรถจิ๊ปของโจทก์เสียหาย เป็นเงิน 23,044.10 บาท

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การทั้งสองสำนวน

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างและการที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของฝ่ายโจทก์ ค่าเสียหายเรียกสูงเกินไป ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากค่าเสียหายซึ่งไม่แน่นอนได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ฝ่ายจำเลยแล่นเข้าไปชนรถยนต์ฝ่ายโจทก์ทางด้านขวาของถนน เบื้องต้นต้องสันนิษฐานว่ารถฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายผิด ทั้งนี้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ผู้ทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด” พระราชบัญญัติจราจรฯ มาตรา 9 บัญญัติว่า “ให้เดินรถทางด้านซ้ายของทางเว้นแต่จะขึ้นหน้ารถคันอื่น หรือจะเข้าจอดทางด้านขวาในทางที่อนุญาตให้จอดด้านขวาได้ ฯลฯ และมาตรา 10 บัญญัติว่า “เมื่อรถเดินสวนกันให้หลีกด้านซ้ายและเมื่อขึ้นหน้ารถคันอื่นให้ขึ้นด้านขวา” การที่จำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนแล่นรถเข้าไปทางด้านขวาของถนนเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ฝ่ายโจทก์ จึงต้องสันนิษฐานว่ารถจำเลยเป็นฝ่ายผิด รถยนต์ฝ่ายโจทก์ออกมาจากทางเข้าบ้านกุดชะนวนขึ้นบนถนนมิตรภาพ ห่างจากรถยนต์จำเลยประมาณ 100 เมตร เมื่อรถยนต์ฝ่ายโจทก์ขึ้นบนถนนมิตรภาพแล้ว ได้แล่นข้ามเส้นขาวแบ่งครึ่งถนนแล้วหักเลี้ยวขวาเพื่อจะเข้าทางด้านขวามือของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เข้าใจว่ารถโจทก์จะเลี้ยวซ้ายจึงแล่นรถขึ้นทางด้านขวาเพื่อให้พ้นรถโจทก์ แต่รถโจทก์ไม่เลี้ยวซ้ายตามที่จำเลยที่ 1 คาด กลับแล่นเลี้ยวขวาสวนทางมา จึงเกิดชนกันขึ้นการที่จำเลยแล่นรถทางขวาเพื่อหลีกขึ้นหน้าโดยคาดหรือเดาเอาว่ารถโจทก์จะเลี้ยวทางซ้ายนั้น เป็นการเสี่ยงภัยของตนเองมิใช่หลบหลีกให้พ้นอันตราย ไม่อาจลบล้างข้อสันนิษฐานว่ารถฝ่ายจำเลยเป็นผู้ผิดได้ แม้ทางที่รถโจทก์แล่นออกมาจะไม่ใช่ทางแยกก็ตาม แต่รถยนต์โจทก์ก็มีสิทธิใช้ถนนเช่นเดียวกับรถของจำเลย รถฝ่ายโจทก์มิได้ฝ่าฝืนกฎหมายในการเดินรถ กล่าวคือ ไม่ได้ตัดหน้ารถยนต์จำเลยในระยะที่กฎหมายห้าม คือ น้อยกว่า 15 เมตร การที่รถยนต์ฝ่ายโจทก์เลี้ยวซ้ายหรือขวาก็มีสิทธิที่จะเลี้ยวได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าฝ่ายใดจะต้องระมัดระวังมิให้เกิดอันตรายขึ้น รถยนต์โจทก์อยู่ห่างรถยนต์จำเลยถึง 100 เมตร ถ้าจำเลยไม่แล่นผิดทางตามที่กฎหมายบังคับ รถจำเลยก็จะไม่ชนกับรถโจทก์ เพราะรถโจทก์แล่นพ้นเข้าทางไปแล้ว ถ้าจำเลยไม่เสี่ยงภัยอาจเดาว่ารถฝ่ายโจทก์จะเลี้ยวซ้ายจึงแล่นขึ้นหน้าด้านขวา รถจำเลยก็จะไม่ชนรถของโจทก์ เหตุที่ชนกันเกิดจากจำเลยแล่นรถผิดทาง โดยแล่นรถไปทางขวาของถนนนั่นเอง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดอยู่แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างถ้านำสืบหักล้างไม่ได้ ก็ไม่จำต้องอาศัยคำพยานโจทก์มาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่เป็นฝ่ายผิดอีก จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าหมวดขนส่งมีหน้าที่ควบคุมการจ่ายรถ การซ่อมรถของโรงงาน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เอารถไปลองเครื่อง จึงเป็นการกระทำในกิจการของโรงงาน จึงเป็นในทางการที่จ้าง การทำงานในวันหยุดหรือทำงานนอกเวลาทำงานตามปกติ หากงานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้างก็คงเป็นการงานในทางการที่จ้างนั่นเอง หาได้กลายเป็นงานส่วนตัวของผู้ทำไม่การที่นายจ้างจ้างลูกจ้างทำงานให้ตน หากลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบ แต่ยังปฏิบัติงานของนายจ้างอยู่ นายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในมาต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่

ในเรื่องค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการปลงศพนั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำเพ็ญกุศลตามฐานะของผู้ตาย แต่ไม่เกินสมควรคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่จะให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นนี้ศาลฎีกาเคยกำหนดให้ตามฐานะของผู้ตาย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 634/2501 และ 789/2502 ผู้ตายเป็นภริยาผู้กำกับการตำรวจรายหนึ่ง อีกรายหนึ่งเป็นภริยาของหลวงฉลาดลิขิต ศาลกำหนดให้รายละ 10,000 บาท สำหรับคดีนี้ศาลเห็นสมควรกำหนดให้ 10,000 บาท นอกนั้นโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็น จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้มิได้ ที่ศาลชั้นต้นให้ค่ารักษาพยาบาลโจทก์และบุตรโจทก์เป็นเงิน 3,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพราะขาดไร้อุปการะนั้น ตามกฎหมายบิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายก็ชอบที่จะเรียกได้จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ หากเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ตายจะมีชีวิตอยู่อุปการะได้ถึงเวลานั้น ผู้ตายรับราชการเป็นนายทหารอากาศซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้แน่นอน ผู้ตายเพิ่งมีอายุได้ 38 ปี หากไม่ถูกรถจำเลยชนจนถึงแก่ความตายแล้ว ความหวังที่มีเหตุผล ผู้ตายน่าจะมีชีวิตอุปการะบุตรและภริยาต่อไปได้อีก 11 ปี จนถึงเด็กหญิงนุชนาทบรรลุนิติภาวะศาลฎีกาเคยพิพากษาให้ใช้ค่าขาดไร้อุปการะในเวลาอนาคตเป็นเวลา 10 ปี หรือจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะมาแล้ว เช่น ฎีกาที่ 292/2505 และ789/2502 เป็นต้น ที่จำเลยฎีกาจะให้คิดเพียง 5 ปี เป็นเรื่องคนงานได้รับความเสียหายในโรงงานของนายจ้าง จะยกมาอ้างเพื่อเป็นตัวอย่างให้รับผิดน้อยลงทั้งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วหาได้ไม่ ฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายคัดค้านว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากค่าเสียหายที่ไม่แน่นอนนั้น เห็นว่าค่าสินไหมทดแทนเป็นหนี้ที่ต้องชดใช้เป็นเงิน ซึ่งกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 และหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ลูกหนี้จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งดอกเบี้ยด้วย เว้นแต่ค่าสินไหมทดแทนที่มีขึ้นภายหลังเวลาที่ทำละเมิด เช่น ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลูกหนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ต้องรับผิดชดใช้เป็นต้นไป ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ยมาแล้วดังฎีกาที่ 789/2502 และ 1716/2503 เป็นต้น ส่วนค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะนั้น แม้เป็นการชดใช้ความเสียหายในอนาคตด้วยก็ดี เมื่อศาลเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้เป็นเงินจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษา และต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันศาลพิพากษาเป็นต้นไป ถ้าจำนวนเงินตรงกันตั้งแต่ศาลชั้นใด ก็คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันศาลล่างพิพากษา ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 829/2509 นายคำนนท์ กาจสงคราม โจทก์บริษัทเซเวนคัพบอตตลิ่ง (กรุงเทพฯ) จำกัด จำเลย เฉพาะค่าสินไหมทดแทน ค่าขาดไร้อุปการะ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยใช้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าสินไหมทดแทนชนิดนี้ตั้งแต่วันศาลชั้นต้นพิพากษา

Share