คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1166/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 6 วรรคสองที่ว่า “สิทธิในบำเหน็จฯลฯ เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้” นั้นหมายถึงห้ามการโอนสิทธิในบำเหน็จ ให้ผู้อื่นในขณะที่ผู้โอนยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น หาได้มีความหมายห้ามเลยไปถึงการทำพินัยกรรมอันจะมีผลในเมื่อผู้นั้นได้ถึงแก่ความตายแล้วไม่
ขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2507 และทางราชการอนุญาตให้ออกได้ตั้งแต่วันนั้น แม้คำสั่งอนุญาตนั้นจะออกเมื่อหลังจากที่ผู้นั้นตายไปแล้ว สิทธิที่ผู้นั้นจะได้รับบำเหน็จก็มีมาตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการแล้วเมื่อผู้นั้นตาย สิทธิในการได้รับบำหน็จจึงเป็นสิทธิอย่างหนึ่งในกองมรดกซึ่งผู้นั้นมีอยู่ขณะถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 จึงแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมโอนสิทธิในบำเหน็จนั้นให้แก่ผู้รับพินัยกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายวงษ์ อ่อนจินดา ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับมารดาโจทก์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่นายวงษ์ได้ให้ความอุปการะและการศึกษาแก่โจทก์ตลอดมา นายวงษ์เคยรับราชการกรมช่างอากาศ ได้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที ๑ มกราคม ๒๕๐๗ และนายวงษ์ถึงแก่ความตายวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จจากกรมช่างอากาศจำนวนหนึ่ง นายวงษ์ได้ทำพินัยกรรมยกสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จให้แก่บุตรของจำเลย แต่พินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯ ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ และโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเงินบำเหน็จครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรของนายวงษ์ และนายวงษ์มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบุตรนายวงษ์ซึ่งนายวงษ์ได้รับรองแล้วพินัยกรรมไม่เป็นโมฆะ
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ
ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งของกรมช่างอากาศที่อนุญาตให้นายวงษ์ออกจากงานได้ตามที่ขอลาออก แม้คำสั่งอนุญาตจะลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๐๗ ก็ตาม แต่ก็อนุญาตให้ออกได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๗ เมื่อเป็นดังนี้จึงเห็นได้ว่าสิทธิที่นายวงษ์จะได้รับบำเหน็จจากทางราชการได้มีมาตั้งแต่ก่อนนายวงษ์ถึงแก่ความตายแล้ว ฉะนั้นเมื่อนายวงษ์ตายสิทธิในการได้รบเงินบำเหน็จจึงเป็นสิทธิอย่างหนึ่งในกองมรดกของนายวงษ์ซึ่งมีอยู่ขณะถึงแก่ความตายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๐ นั้น นายวงษ์จึงแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในทรัพย์สินของตนเองโดยให้ตกให้แก่เด็กหญิงวันทนีย์ในเมื่อตนได้ตายแล้วตามมาตรา ๑๖๔๖ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ส่วนพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ วรรค ๒ ย่อมหมายถึงการโอนสิทธิในบำเหน็จให้ผู้อื่นในขณะที่โอนยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นหาได้มีความหมายห้ามเลยไปถึงการทำพินัยกรรมอันจะมีผลในเมื่อผู้นั้นได้ถึงแก่ความตายแล้วไม่
พิพากษายืน

Share