แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญามีข้อความว่า ” ที่ดินมรดกเรื่องนายคำ ร้องคัดค้านนายอ่องซึ่งเป็นส่วนของนางเทียบนายแว้นั้นข้าพเจ้าเป็นน้องนางเทียบนายแว้เป็นผู้รับมรดกที่ดินรายนี้ ข้าพเจ้ายอมยกที่ดินรายนี้มีเท่าใดให้นายอ่องทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าได้รับเงินนายอ่องไป410บาทโดยขายให้นายอ่อง จึงได้ลงลายมือไว้เป็นสำคัญ” ดังนี้ เป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามธรรมดา
การที่ผู้ซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งออกเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความให้แก่ผู้ขายที่ดิน เพื่อฟ้องบุคคลผู้ขัดขวางสิทธิเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบ เพราะเป็นการป้องกันประโยชน์ส่วนได้เสียตามปกติไม่ใช่เป็นการแสวงประโยชน์จากการที่บุคคลอื่นเข้าเป็นความกัน
ผู้ขายได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อและรับเงินไว้บางส่วนแต่ยังไม่ได้โอนเพราะผู้ขายกำลังฟ้องบุคคลที่ 3 เป็นจำเลย เรื่องขัดขวางไม่ยอมให้รับมรดกที่ดินแปลงนั้นภายหลังผู้ขายได้ทำสัญญาประนีประนอมกับบุคคลที่ 3 โดยโอนที่ดินให้เป็นของบุคคลที่ 3 ดังนี้เป็นเหตุให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ บุคคลที่ 3 จึงเข้าลักษณะเป็นผู้ได้ลาภงอกเงยจากผู้ขาย ซึ่งเป็นลูกหนี้เพราะไม่มีทางบังคับชำระได้นิติกรรมที่ผู้ขายโอนให้แก่บุคคลที่ 3 จึงอาจถูกเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ. ม.237
ย่อยาว
คดี 3 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษารวมกันสำนวน 1 โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดที่ 5871 มีชื่อนายอ่อง โจทก์กับนางสาวเทียบ นายแว้ร่วมกันนายแว้ นางสาวเทียบตาย มรดกนางสาวเทียบ นายแว้ ตกได้แก่นางสอิ้ง ต่อมานายคำประกาศรับมรดกนางสาวเทียบอ้างว่าเป็นสามีนางสาวสอิ้ง จำเลยคัดค้านเกิดพิพาทเป็นคดีแพ่งดำที่ 146/2491 ก่อนเกิดคดีนี้ นางสาวสอิ้งได้ตกลงขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนในโฉนดให้แก่โจทก์ โดยข้อตกลงว่าจำเลยจะฟ้องนายคำขอห้ามมิให้มาเกี่ยวข้องในที่ดิน แต่จำเลยไม่มีเงินฟ้องจึงตกลงขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ตนจะได้รับแก่โจทก์ โดยจำเลยขอรับเงิน 410 บาท และให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค่าทนายความให้นางสาวสอิ้งนางสาวสอิ้งชนะคดีนั้นในชั้นอุทธรณ์ โดยที่ดิน 2 ใน 3 ส่วน นางสาวสอิ้งจะต้องโอนขายให้โจทก์ตามสัญญา เมื่อคดีนั้นอยู่ระหว่างฎีกานางสาวสอิ้งและนายคำได้สมยอมกันโดยนางสาวสอิ้งยอมยกที่ดินส่วนจะได้ในคดีนั้นให้แก่นายคำ นายคำได้ถอนฎีกา และจะจัดการโอนกันภายหลัง โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายให้ที่ดินซึ่งจำเลยมีส่วนได้ในโฉนดที่ 5871 ให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนขายให้ใช้เงิน 1,910 บาท
นายคำจำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นมรดกตกได้แก่ ด.ญ.สุดใจบุตรจำเลย ด.ญ.สุดใจตายจึงตกได้แก่จำเลย นางสาวสอิ้งไม่ได้ขายที่ดินให้โจทก์ นางสาวสอิ้งกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมกันโดยสุจริตนางสาวสอิ้งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
สำนวนที่ 2 นางสาวละอองเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1-2 ทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์ 2 แปลงจำเลยได้รับเงินไปแล้ว จำเลยที่ 1-2 สัญญาว่าจะจัดการรับมรดกและเรียกร้องผู้ขัดขวางเสียก่อนเมื่อจัดการแล้วจะขายให้โจทก์ทันที หากจำเลยบิดพลิ้วจะคืนเงินและค่าเสียหายให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยอมความกับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 รับมรดกนางสาวเทียบนายแว้ และโอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่จำเลยที่ 3 จึงขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินพิพาทนี้เสีย แล้วให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา หากจัดการไม่ได้ ให้คืนเงินพร้อมทั้งค่าปรับ
นายคำจำเลยให้การทำนองเดียวกับสำนวนที่ 1 จำเลยที่ 1-2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
สำนวนที่ 3 นายอ่องเป็นโจทก์ฟ้องว่าภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสำนวนที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสามได้สมคบกันทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายเดียวกันขึ้นย้อนหลังไปถึง 27 กุมภาพันธ์ 2491 โดยมีเจตนาทุจริตทำให้โจทก์เสียหาย เพราะจำเลยทั้ง 3 ทราบดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงนี้ให้โจทก์อยู่ก่อนแล้ว จึงขอให้เพิกถอนหรือทำลายหนังสือสัญญาจะขายที่ดินแปลงนี้ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่ดิน
นางสาวละอองจำเลยให้การว่าได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายโดยสุจริต
นางสอิ้งนายบางจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นได้สั่งงดการพิจารณาคดีที่ 3 ไว้จนสืบพยานสำนวนที่ 1-2 เสร็จแล้วจึงได้รวมพิพากษาว่า ให้ทำลายนิติกรรมการโอนรับมรดกของนายคำจำเลย ให้ที่ดินส่วนของนายแว้นางสาวเทียบตกได้แก่นางสาวละออง ให้ยกฟ้องคดีนายอ่องโจทก์เสียทั้ง 2 สำนวน
นายอ่องโจทก์คดีที่ 1-3 นายคำจำเลยสำนวนที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้นางสอิ้งนายบางจำเลยสำนวนที่ 2คืนเงินให้นางสาวละออง 1,500 บาท สำนวนที่ 1-3 ให้ยกฟ้อง
นายอ่องโจทก์สำนวนที่ 1-3 นางสาวละอองโจทก์ในสำนวนที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดี 3 สำนวนตามลำดับ
สำนวนที่ 1 สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนางสาวสอิ้งกับนายอ่องมีข้อความว่า “ที่ดินมรดกเรื่องนายคำร้องคัดค้านนายอ่อง ซึ่งเป็นส่วนของนางเทียบนายแว้ เป็นผู้รับมรดกที่ดินรายนี้ ข้าพเจ้ายอมยกที่ดินรายนี้มีเท่าใดให้นายอ่องทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าได้รับเงินนายอ่องไป 410 บาท โดยขายให้นายอ่อง จึงได้ลงลายมือให้ไว้เป็นสำคัญ” ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่นางสอิ้งได้รับมรดกจากนางเทียบนายแว้อย่างสัญญาธรรมดาไม่มีลักษณะเป็นการพนันขันต่อ
การที่นายอ่องออกเงินค่าธรรมเนียมค่าจ้างว่าความให้นางสอิ้งฟ้องนายคำ ซึ่งขัดขวางสิทธิของนางสอิ้งเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่ตกลงขายให้นางอ่องนั้น ไม่เป็นการขัดขวางความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะนายอ่องมีส่วนได้เสียในที่ดินนั้น คือนายอ่องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ส่วนหนึ่ง เมื่อนางสอิ้งขายที่ดินส่วนของนางสอิ้งให้นายอ่อง นายคำได้โต้แย้งสิทธิของนางสอิ้งเกี่ยวกับที่ดินนั้นอยู่นายอ่องจึงได้ออกเงินให้นางสอิ้งฟ้องนายคำเพื่อระงับการที่นายคำได้แย้งสิทธิของนางสอิ้ง การกระทำของ นายอ่องจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันประโยชน์ส่วนได้เสียของตนเองโดยปกติหาใช่เป็นการแสวงประโยชน์จากการที่บุคคลอื่นเขาเป็นความกันไม่ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
สำนวนที่ 2 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าขณะนายคำเลิกคดีกับนางสอิ้งตามสัญญาประนีประนอม นายคำได้รู้อยู่แล้วว่า นางสอิ้งนายบางได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่นางสาวละอองไว้ก่อนแล้วนางสอิ้งและนางบางได้รับเงิน 1,500 บาท ไว้แล้ว นายคำได้รับโอนที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่านางสอิ้งลูกหนี้ได้ตกลงขายให้แก่นางสาวละอองเจ้าหนี้ก่อน นั้นมาเป็นของคนอื่น อันเป็นเหตุให้นางสาวละอองเจ้าหนี้เสียเปรียบ นายคำจึงเข้าลักษณะเป็นผู้ได้ลาภงอกเงยจากการที่นางสอิ้งลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้ว่าจะทำให้นางสาวละอองเจ้าหนี้เสียเปรียบ นิติกรรมการรับโอนส่วนได้ของนางสอิ้งในที่ดินรายพิพาทโดยนายคำจึงอาจถูกเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 พิพากษาแก้ให้เพิกถอนการโอนรับมรดกของนายคำในที่ดินโฉนดที่ 5871 เสีย ให้ใส่ชื่อนางสอิ้งเป็นผู้รับมรดกที่ดินแปลงนั้นเฉพาะส่วนของนางเทียบนายแว้อยู่แต่เดิม
สำนวนที่ 3 ศาลฎีกาเห็นว่าต้องพิจารณาต่อไปว่าสัญญาจะซื้อขายระหว่าง นายอ่อง และนางสาวละออง ใครจะมีสิทธิดีกว่ากันพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาตามรูปความ