แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป และพาผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี โดยผู้ร้องที่ 1 ไม่ยินยอม และเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นการค้ามนุษย์ ตามคำฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่าผู้เสียหายในคดีอาญาตามฟ้องโจทก์คือ ผู้ร้องที่ 1 ไม่ใช่ผู้ร้องที่ 2 เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่จะยื่นคำร้องได้ ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายในข้อหาดังกล่าว ในส่วนของผู้ร้องที่ 1 นั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ผู้ร้องที่ 1 สมัครใจยินยอมที่จะร่วมประเวณีกับลูกค้าชายที่เข้ามาเที่ยวร้าน ต. คาราโอเกะของจำเลยที่ 1 มิใช่ถูกจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวงก็ตาม แต่ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอมก็เป็นความผิด ทั้งเป็นความผิดที่กระทำต่อผู้ร้องที่ 1 แม้ผู้ร้องที่ 1 จะยินยอมก็เป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283, 283 ทวิ, 317 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 52
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายบุญเลิศ ผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ช. ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเงินคนละ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสี่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2), 52 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 14 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีกับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าไปซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี และปรับ 4,000 บาท ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่ออนาจาร จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 5 ปี 6 เดือน และปรับ 9,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 9 เดือน และปรับ 4,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองคนละ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ข้อหาอื่นของจำเลยที่ 1 ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มีผู้ร้องที่ 1 เบิกความประกอบคำให้การชั้นสอบสวนความว่า ในช่วงปลายปี 2554 นางสาวอรวรรณ์ พาผู้ร้องที่ 1 ไปสมัครงานที่ร้าน ต. คาราโอเกะ กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน จำเลยที่ 1 บอกให้ผู้ร้องที่ 1 ไปนั่งกับลูกค้าทำตัวให้ดีๆ ต่อมาในช่วงดึกลูกค้าชายเข้าไปคุยกับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 มาบอกให้ผู้ร้องที่ 1 ออกไปกับลูกค้า จากนั้นลูกค้าพาผู้ร้องที่ 1 ไปร่วมประเวณีที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งแล้วพาผู้ร้องที่ 1 กลับมาส่งที่ร้าน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 แบ่งเงินให้แก่ผู้ร้องที่ 1 จำนวน 500 บาท เป็นค่าตอบแทนที่ผู้ร้องที่ 1 ออกไปกับลูกค้า ซึ่งผู้ร้องที่ 1 เบิกความต่อเนื่องเป็นลำดับถึงพฤติการณ์ที่ผู้ร้องที่ 1 ออกไปร่วมประเวณีกับลูกค้าชายที่มาใช้บริการที่ร้าน โดยได้รับเงินค่าตอบแทนจากลูกค้า จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่ออนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นยินยอม กับฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” ซึ่งมาตรา 2 (4) ให้ความหมายของคำว่า “ผู้เสียหาย” ว่า หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 คดีนี้โจทก์ฟ้องตอนต้นว่า จำเลยที่ 1 เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป และพาผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี โดยผู้ร้องที่ 1 ไม่ยินยอมและเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นการค้ามนุษย์ ตามคำฟ้องตอนต้นของโจทก์จะเห็นได้ว่า ผู้เสียหายในคดีอาญาตามฟ้องโจทก์คือ ผู้ร้องที่ 1 ไม่ใช่ผู้ร้องที่ 2 เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่จะยื่นคำร้องได้ ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายในข้อหาดังกล่าว ในส่วนของผู้ร้องที่ 1 นั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ผู้ร้องที่ 1 สมัครใจยินยอมที่จะร่วมประเวณีกับลูกค้าชายที่เข้ามาเที่ยวในร้าน ต. คาราโอเกะของจำเลยที่ 1 มิใช่ถูกจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวง แม้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เกิดจากความสมัครใจยินยอมของผู้ร้องที่ 1 ก็ตาม แต่ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอมก็เป็นความผิด ทั้งเป็นความผิดที่กระทำต่อผู้ร้องที่ 1 แม้ผู้ร้องที่ 1 จะยินยอมก็เป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดต่อผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3