คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงสัญญาซึ่งจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่ใช่สิ่งที่คู่สัญญามอบให้ไว้แก่กันเมื่อทำสัญญา จึงมิใช่มัดจำตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 377 โจทก์จะริบเงินจำนวนนี้ในฐานเป็นมัดจำไม่ได้ และจะเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่ได้ เพราะตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ตกลงยอมชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มีสิทธิริบเงินที่วางไว้เป็นประกันเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกาศประกวดราคาซื้อสวิตช์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูง โดยมีข้อกำหนดว่า ในระหว่างการพิจารณาราคาของโจทก์ผู้ยื่นซองประกวดราคาจะถอนการประกวดราคาไม่ได้ หรือโจทก์ตกลงซื้อบริภัณฑ์ดังกล่าวกับผู้ใดแล้วผู้นั้นไม่ทำสัญญาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โจทก์จะริบเงินมัดจำซองประกวดราคา 65,300 บาทของผู้เสนอราคาทั้งหมด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาเสนอราคาขายสวิตช์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูงตามประกาศประกวดราคาของโจทก์โดยใช้หนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มาวางค้ำประกันสัญญาแทนเงินมัดจำ จำเลยที่ 2 สัญญาว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมทำสัญญาขายในเมื่อประกวดราคาได้ตามที่เสนอซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินประกันซองประกวดราคาจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนให้ทันที โจทก์ได้ตกลงซื้อตามที่จำเลยที่ 1 เสนอขายและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปทำสัญญากับโจทก์ และขอสละสิทธิในการประกวดราคาโดยแจ้งว่า ไม่สามารถหาสินค้ามาส่งให้ได้ เป็นการผิดสัญญาการประกวดราคา โจทก์ได้บอกเลิกการจัดซื้อและเรียกค่าเสียหายกับจำเลยที่ 1 โดยขอริบเงินมัดจำซองจำนวน 65,300 บาท ตามเงื่อนไขการประกวดราคา จำเลยที่ 1 ขอผ่อนผันและไม่ชำระเงิน โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน จำเลยที่ 2 ปฏิเสธความรับผิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นซองประกวดราคาแล้วก่อนทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งจากโรงงานในต่างประเทศว่าได้เลิกประกอบกิจการแล้ว ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีทางจะสั่งซื้อสินค้ามาได้ จึงเป็นเหตุพ้นวิสัย โจทก์ได้แสดงเจตนาไม่ริบเงินประกันซอง โดยส่งคืนสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 อันเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิ จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะหนี้ระงับไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ได้ส่งต้นฉบับสัญญาค้ำประกันคืนจำเลยที่ 2 พร้อมทั้งมีหนังสือยืนยันการหมดภาระให้จำเลยที่ 2 ทราบถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว หนี้ที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ต่อโจทก์จึงระงับ บริษัทผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศซึ่งจำเลยที่ 1 ติดต่อเพื่อซื้อสินค้านั้นได้เลิกกิจการไปเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะควบคุมหรือป้องกันได้ ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่ไม่อาจจะโทษจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิริบมัดจำหรือเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันและมิได้โต้เถียงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้ประกาศประกวดราคาซื้อสวิตช์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูงโดยมีข้อกำหนดว่า ในระหว่างการพิจารณาราคาของโจทก์ ผู้ยื่นซองประกวดราคาถอนการประกวดราคาไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามหรือโจทก์ตกลงซื้อบริภัณฑ์ดังกล่าวกับผู้ใดแล้วผู้นั้นไม่ทำสัญญาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งโจทก์จะริบเงินมัดจำซองราคา 65,300 บาทของผู้เสนอราคา ปรากฏตามภาพถ่ายประกาศประกวดราคาเอกสารหมาย จ.3 ท้ายฟ้อง วันที่ 28 มีนาคม2526 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาเสนอขายสวิตช์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูงตามประกาศของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ใช้หนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มาวางค้ำประกันแทนเงินมัดจำ จำเลยที่ 2 สัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมทำสัญญาขายในเมื่อประกวดราคาได้ ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินมัดจำซองประกวดราคาจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนให้ทันที ตามภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ท้ายฟ้อง ต่อมาโจทก์ตกลงซื้อบริภัณฑ์จากจำเลยที่ 1จำนวน 2 รายการ และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ เมื่อวันที่ 22 มิถุนาย2526 ครั้นวันที่ 25 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศได้ขายกิจการให้บุคคลอื่นไปแล้ว ไม่สามารถหาสินค้ามาส่งให้แก่โจทก์ได้ จึงขอสละสิทธิในการประกวดราคา โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกการจัดซื้อกับจำเลยที่ 1 และเรียกค่าเสียหายโดยเรียกริบเงินมัดจำซองตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.8 วันที่ 18 สิงหาคม 2526 จำเลยที่ 1 มีหนังสือขอผ่อนผันการริบเงินมัดจำซองตามเอกสารหมาย จ.9 วันที่1 มีนาคม 2527 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่า ขอยืนยันบอกเลิกการจัดซื้อให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเสียหายไปชำระให้โจทก์ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.12 ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2527 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันนำเงินไปชำระแทนตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.13 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาเสนอขายสวิตช์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูงตามประกาศของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ใช้หนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2มาวางค้ำประกันแทนเงินมัดจำอันมีข้อความระบุว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินที่วางไว้เป็นประกันซองประกวดราคาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ยอมชำระเงินแทนให้ทันที ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย” ดังนี้ เห็นได้ว่า หากไม่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำไว้เมื่อไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาก็ย่อมจะไม่มีมัดจำให้ริบ หนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงสัญญาซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงมิใช่เป็นมัดจำตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จะริบเงินจำนวนนี้ในฐานเป็นมัดจำไม่ได้ และจะเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ตกลงยอมชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มีสิทธิริบเงินที่วางไว้เป็นประกันแต่คดีนี้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามสัญญาค้ำประกันเพราะมิใช่มัดจำดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share