คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1157/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1693 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้ มีความหมายว่าถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่พอใจในพินัยกรรมที่ตนทำไว้ ย่อมแสดงเจตนาเพิกถอนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดๆ ก็ได้ก่อนผู้ทำพินัยกรรมตาย แต่วิธีการเพิกถอนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับ ซึ่งมีบัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา 1694 ถึง 1697 กฎหมายไม่ได้แยกมาตรา 1693 เป็นเอกเทศมีวิธีการเพิกถอนอยู่ในตัว
การที่ผู้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยื่นคำร้องต่อนายอำเภอขอถอนพินัยกรรมโดยมิได้ร้องขอทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรม และนายอำเภอก็สั่งแต่เพียงให้รวมคำร้องเก็บไว้ในเรื่อง ไม่ถือว่าได้มีการทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมแต่ประการใด พินัยกรรมจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่
(อ้างฎีกาที่ 838/2508)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกมรดกที่ดินสวนมะพร้าว ๑ ใน ๓ ส่วนตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนายเชย มีเพียรเจ้ามรดก
จำเลยต่อสู้ว่า เจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนพินัยกรรมต่อนายอำเภอแล้วที่ดินสวนมะพร้าวจึงตกได้แก่จำเลย ทายาทโดยธรรม
ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยาน และพิพากษาว่า การที่เจ้ามรดกมีหนังสือแสดงเจตนาของให้นายอำเภอเพิกถอนพินัยกรรม ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมถูกเพิกถอนพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินสวนมะพร้าวให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙๓ บัญญัติไว้เป็นหลักว่า “ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้” มีความหมายว่า ถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่พอใจอาจจะแสดงเจตนาเพิกถอนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดๆ ก็ได้ก่อนที่ผู้นั้นตาย แต่วิธีการเพิกถอนนั้นกฎหมายบังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมปฏิบัติ มีบัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา ๑๖๙๔ ถึงมาตรา ๑๖๙๗ จึงเห็นได้ชัดว่ากฎหมายไม่ได้แยกมาตรา ๑๖๙๓ เป็นเอกเทศ มีวิธีการเพิกถอนอยู่ในตัวของมันเองดังจำเลยฎีกา สำหรับกรณีพิพาทในคดีนี้ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙๕ วรรคแรก ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมฉบับนี้เสีย ตราบใดที่พินัยกรรมฉบับนี้ยังไม่ถูกทำลายหรือยังไม่ถูกขีดฆ่าด้วยความตั้งใจ พินัยกรรมฉบับนี้ก็ยังมีผลใช้บังคับได้อยู่
ตามคำร้องของนายเชยที่ยื่นต่อนายอำเภอเกาะสมุยมีข้อความแต่เพียงว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์ขอถอนพินัยกรรมฉบับนี้เท่านั้น หาได้ร้องขอทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมไม่ และนายอำเภอก็สั่งแต่เพียงให้รวมคำร้องเก็บไว้ในเรื่องเท่านั้น ไม่ถือว่าได้มีการทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมแต่ประการใด พินัยกรรมของนายเชยจึงยังมีผลใช้ได้ตามนัยฎีกาที่ ๘๓๘/๒๕๐๘
พิพากษายืน

Share