แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ.ภาค 4 ลักษณะ 1 จะนำ ป.วิ.พ.มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกานั้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และทนายความไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๑ ให้ยกฟ้องโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๖ ประกอบมาตรา ๑๘๑
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ ว่า โจทก์ไม่ทราบกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ เนื่องจากเสมียนทนายโจทก์ไม่ได้แจ้งวันนัดพิจารณาให้โจทก์ทราบ ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งยกฟ้องและนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ ว่าโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายโจทก์มากำหนดวันนัดแทน ถือได้ว่าโจทก์ทราบกำหนดนัดสืบพยานโจทก์โดยชอบแล้ว ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๑ ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งยกฟ้องโจทก์และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ดังเช่นคดีแพ่ง ดังนั้น การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาของศาลชั้นต้น จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค ๔ ลักษณะ ๑ จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการยื่นอุทธรณ์ข้ามลำดับของศาล
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกานั้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป.