แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้ามรดกมีบุตร 5 คนคือโจทก์ทั้งสอง จำเลย ว.และพ. ผู้ร้องสอดเป็นภรรยาของ พ.ไม่มีบุตรด้วยกัน พ. ตายก่อนเจ้ามรดก เจ้ามรดกตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยขอแบ่งมรดก ผลที่สุดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จำเลยยอมแบ่งที่พิพาทออกเป็น 5 ส่วนเท่าๆ กัน ให้โจทก์ทั้งสอง ว.พ. และจำเลยคนละส่วนตามคดีแดงที่ 239/2515 ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์และจำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่า พ. ตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว ยังยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ พ. มีส่วนในที่พิพาท 1 ส่วนใน 5 ส่วน จึงแสดงว่าต่างมีเจตนาอันแท้จริงที่จะมอบที่ดินส่วนนี้ให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของ พ. หาใช่มอบให้แก่ พ. ซึ่งตายไปแล้วไม่ ทั้งนี้เป็นการตีความในสัญญาโดยเพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132
สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยทำไว้นั้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาจะรับเอาทรัพย์ส่วนนี้โดยร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ถือได้ว่าผู้ร้องสอดได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว ตามมาตรา 374 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิของผู้ร้องสอดได้เกิดมีขึ้นแล้ว โจทก์จะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินี้ของผู้ร้องสอดมิได้ ตามมาตรา 375 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินมีโฉนด 160 ส่วนใน 200 ส่วน ขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่าเดิมที่ดินโฉนดตามฟ้องมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวต่อมาโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลย และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยให้แบ่งที่ดินออกเป็น 5 ส่วนเท่ากัน ได้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลย นางแหวน และนายพัว ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาโจทก์จดทะเบียนมีส่วน 160 ส่วนใน 200 ส่วน ให้จำเลย 40 ส่วนใน 200 ส่วน ตามส่วนที่จำเลยควรได้ จำเลยจึงไม่คัดค้าน การแบ่งขัดข้องมิใช่เพราะจำเลย
นางสวัสดิ์ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพัว นายพัวมีส่วนได้ที่ดินพิพาทอยู่ 40 ส่วนใน 200 ส่วน ตามที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์ฉ้อฉลลงส่วนของโจทก์ทั้งสองเป็น 160 ส่วนใน 200 ส่วน เกินส่วนของตน โดยเอาส่วนของนายพัวไปเป็นของโจทก์โดยมิชอบ
โจทก์คัดค้านว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายพัน ซึ่งมีทายาท 5 คน คือโจทก์ทั้งสอง จำเลย นายพัว และนางแหวน นายพัวตายโดยไม่มีผู้สืบสันดาน จำเลยร่วมไม่ใช่ทายาทของนายพัน ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ นายพันตายที่ดินพิพาทจึงตกแก่ทายาท 4 คน จำเลยทุจริตไปโอนที่ดินเป็นของจำเลยคนเดียว โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลย ได้มีการประนีประนอมกันตามคดีหมายเลขแดงที่ 239/2515 จำเลยยอมแบ่งที่ดินออกเป็นห้าส่วนเท่า ๆ กัน สำหรับทายาทของนายพัน จำเลยยอมโอนส่วนของนายพัวให้โจทก์ทั้งสอง และส่วนของนางแหวนก็ยกให้โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมี 160 ส่วนใน 200 ส่วน
คู่ความรับกันว่านายพัวตายไปก่อนนายพันเจ้ามรดก และขอให้ถือเอาคำฟ้อง คำให้การ คำแถลงของคู่ความ และสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 239/2515 ของศาลชั้นต้นวินิจฉัย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยทำกัน แสดงว่ามีเจตนาจะกันส่วนไว้ให้ทายาทของนายพัวซึ่งได้แก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงมี 40 ส่วนใน 160 ส่วน ที่โจทก์ขอแบ่ง โจทก์ทั้งสองคงมีส่วนเพียง 120 ส่วน พิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมแบ่งแยกที่ดิน 120 ส่วนใน 200 ส่วน ในโฉนดที่ 8588 ให้โจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายพันมีบุตร 5 คนคือ โจทก์ทั้งสอง จำเลย นางแหวน และนายพัว ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพัว ไม่มีบุตรด้วยกัน นายพัวตายก่อนนายพันเมื่อนายพันตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยได้ไปโอนรับมรดกคือที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียว โจทก์ทั้งสองทราบจึงฟ้องจำเลยขอแบ่งมรดกและทำลายการโอนรับมรดกที่ดินพิพาท ผลที่สุดแห่งคดีโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยยอมแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็น 5 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ทั้งสอง นางแหวน นายพัวและจำเลยได้คนละ 1 ส่วน โดยจำเลยจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์และทายาทดังกล่าวภายใน 3 วัน ถ้าไม่ไปยอมให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมและสัญญายอมแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าตกลงแบ่งกันไม่ได้ก็ให้ขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวเอาเงินมาแบ่งกันคนละส่วน และศาลได้พิพากษาคดีตามยอม ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 239/2515ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นแล้ว ต่อมาในวันเดียวกันจำเลยได้ไปจดทะเบียนยอมให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 160 ส่วนใน200 ส่วน
ปัญหาว่าผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม จะมีสิทธิในที่ดินพิพาท 40 ส่วนใน 160 ส่วนที่โจทก์ขอแบ่งแยกจากจำเลย โดยอาศัยสิทธิเดิมของนายพัวหรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปรากฏจากสำเนาทะเบียนคนตายท้ายคำคัดค้านของโจทก์ว่า นายพัวตายตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ฉะนั้นขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 239/2515 นั้น โจทก์และจำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่านายพัวตายไปก่อนนายพันแล้ว ที่โจทก์เพิ่งอ้างมาในชั้นฎีกาว่าโจทก์ไม่รู้ว่านายพัวตายไปก่อนทำสัญญาไม่มีเหตุผลให้รับฟัง เมื่อโจทก์และจำเลยรู้ความข้อนี้แล้วยังยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้นายพัวมีส่วนได้ในที่ดินพิพาท 1 ส่วนใน 5 ส่วน จึงแสดงว่าต่างมีเจตนาอันแท้จริงที่จะมอบที่ดินส่วนนี้ให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของนายพัว หาใช่มอบให้แก่นายพัวซึ่งตายไปแล้วไม่ ทั้งนี้เป็นการตีความในสัญญาโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 ส่วนผู้มีสิทธิรับมรดกของนายพัวนั้น เมื่อปรากฏว่านายพัวไม่มีบุตร ภริยาของนายพัวคือ ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมย่อมเป็นผู้รับที่ดินพิพาทส่วนของนายพัวนี้
อนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยทำไว้นั้นเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก และเมื่อผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาจะรับเอาทรัพย์ส่วนนี้โดยร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ถือได้ว่าผู้ร้องสอดได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้วตามมาตรา 374 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อสิทธิของผู้ร้องสอดในทรัพย์ส่วนนี้ได้เกิดมีขึ้น โดยแสดงเจตนารับเอาซึ่งทรัพย์ดังกล่าวแล้ว โจทก์จะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินี้ของผู้ร้องสอดมิได้ ตามมาตรา 375 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น โจทก์จะเรียกร้องเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องจำนวน 40 ตารางวามาเป็นของโจทก์มิได้
พิพากษายืน