คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยคนหนึ่งได้มรณะในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ และไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นคำขอให้ศาลหมายเรียกผู้ใดเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยผู้นั้นมรณะ ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยผู้นั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้มรณะจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนข้อพิพาทที่เกี่ยวกับจำเลยอื่น ถ้าไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ซึ่งยุติแล้วนั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัยต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนตั้งโรงงานทำอิฐดินเผา หุ้นส่วนมอบอำนาจให้โจทก์ที่ ๑ กู้เงินจากธนาคาร โจทก์ที่ ๑ จึงทำใบมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ไปทำสัญญากู้แทนโดยไม่ได้กรอกข้อความในใบมอบ จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ สมคบกันใช้ใบมอบอำนาจนั้นโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของหุ้นส่วนให้จำเลยที่ ๓ ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันโดยจำเลยที่ ๑, ๒ ขายหุ้นแก่โจทก์ และจำเลยที่ ๓ จะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่โจทก์ แต่แล้วไม่ได้ขายให้ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและให้จำเลยที่ ๑, ๒ ขาดจากหุ้นส่วน
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายที่ดิน จำเลยที่ ๑ ยังเป็นหุ้นส่วน
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าเป็นภริยาจำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นความจริงตามฟ้องแต่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ ๑, ๓
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายทีดิน และจากการเป็นหุ้นส่วนให้จำเลยที่ ๑, ๒ ขาด
จำเลยที่ ๑, ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขาย นอกจากนี้ยืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๓ ถึงแก่กรรม ไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ และไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นคำขอให้ศาลหมายเรียกผู้ใดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันมรณะ ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๒
เมื่อจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขาย
ส่วนฎีกาโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ สมคบกับจำเลยที่ ๓ ฉ้อโกงโจทก์นั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัยเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นได้
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share